Sort by
Sort by

แม่จ๋า!! มาคำนวณโภชนาการกันเถอะ หนูจะได้แข็งแรงตั้งแต่อยู่ในครรภ์

แม่จ๋า!! มาคำนวณโภชนาการกันเถอะ หนูจะได้แข็งแรงตั้งแต่อยู่ในครรภ์

 

โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ช่วยให้เจ้าตัวเล็กแข็งแรงตั้งแต่อยู่ในท้อง

 

การคำนวณโภชนาการที่เหมาะสมให้สมดุลกับค่าดัชนีมวลกายอาจฟังดูยาก แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ซับซ้อนจนยากเกินกว่าจะทำเองได้ โดยมีเกณฑ์ง่าย ๆ คือการสังเกตน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นแต่ละสัปดาห์ ตลอดอายุครรภ์ โดยเทียบกับค่าดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ (BMI : Body Mass Index) ตามสูตรด้านล่างนี้ค่ะ

ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร) 2

คุณแม่ท้องที่มีค่าดัชนีมวลกายในเกณฑ์ปกติก่อนตั้งครรภ์ น้ำหนักอาจไม่เพิ่มขึ้นเลยหรือเพิ่มแค่ 1 กิโลกรัม ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เมื่อไตรมาสที่ 2 และ 3 ควรเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 350 – 500 กรัม โดยเทียบได้จากตารางนี้ค่ะ

  น้ำหนักน้อย น้ำหนักปกติ น้ำหนักเกิน อ้วน
ค่าดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ (กิโลกรัม/เมตร2) <18.5 18.5-22.9 23.0-29.9 ≥30
อัตราการเพิ่มน้ำหนักในไตรมาสที่ 2 และ 3 (กรัม/สัปดาห์) 440-580 350-500 230-330 170-270
อัตราการเพิ่มน้ำหนักในไตรมาสที่ 2 และ 3 (กิโลกรัม/เดือน) 1.8-2.3 1.4-2.0 0.9-1.3 0.6-1.1
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ (กิโลกรัม) 12.5-18.0 11.5-16.0 7.0-11.5 5.0-9.0

 

การทานอาหารในปริมาณที่เพียงพอมีส่วนช่วยให้คุณแม่มีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ ซึ่งในไตรมาสแรกร่างกายจะต้องการพลังงานน้อยกว่าไตรมาสที่ 2 และ 3 แต่ต้องการโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุใกล้เคียงกัน ดังนั้นแต่ละไตรมาสจะมีเพียงอาหารในกลุ่มข้าว-แป้งที่ทานต่างกัน ส่วนผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์และนม จะมีสัดส่วนไม่ต่างกัน

ปริมาณอาหารสำหรับหญิงมีครรภ์ (ปริมาณต่อวัน)

  ไตรมาสที่ 1 ไตรมาสที่ 2 และ 3
  อายุ 16-18 ปี อายุ 19-50 ปี อายุ 16-18 ปี อายุ 19-50 ปี
ข้าว/แป้ง 8 ทัพพี 6 ทัพพี 10 ทัพพี 9 ทัพพี
ผัก 6 ทัพพี 6 ทัพพี 6 ทัพพี 6 ทัพพี
ผลไม้ 5 ส่วน 5 ส่วน 6 ส่วน 6 ส่วน
เนื้อสัตว์ 12 ช้อนกินข้าว 12 ช้อนกินข้าว 12 ช้อนกินข้าว 12 ช้อนกินข้าว
นม 3 แก้ว 2-3 แก้ว 3 แก้ว 2-3 แก้ว
น้ำตาล ไม่เกิน 4 ช้อนชา ไม่เกิน 5 ช้อนชา
เกลือ ไม่เกิน 1 ช้อนชา ไม่เกิน 1 ช้อนชา

 

 

การทานอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม คือ ข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และนม ควรทานในปริมาณที่เหมาะสมและหลากหลายในแต่ละมื้อ ช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตได้ดีและมีพัฒนาการรุดหน้า แต่จะทานอะไรยังไงนั้น เรามีแนวทางมาแนะนำกันค่ะ

7 แนวทาง ทานอาหารอย่างไรให้เบบี๋มีสุขภาพดีตั้งแต่ในครรภ์

 

  1. ทานครบ 3 มื้อ เสริมด้วยอาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น นมจืด หรือผลไม้ ระหว่างมื้อ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการพลังงานมากกว่าปกติ
  2. ทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ให้หลากหลาย ควบคู่กับการทานไข่ เต้าหู้ ถั่วเมล็ดแห้ง เพื่อเสริมโปรตีน กรดไขมันจำเป็น วิตามิน และแร่ธาตุ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ และการเจริญเติบโตของเซลล์สมองของลูกน้อย และหลีกเลี่ยงเนื้อติดมันหรือหนังสัตว์
  3. ทานปลา โดยเฉพาะปลาทะเล อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อรับดีเอชเอ (DHA: Docosahexaenoic acid) ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยเสริมพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทส่วนการรับรู้และจอประสาทตาของทารก
  4. ทานอาหารธาตุเหล็กสูง อาทิ ตับ เลือด เนื้อแดง ร่วมกับอาหารวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะละกอสุก ส้ม อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น
  5. ทานผักและผลไม้เป็นประจำทุกวัน ควรสลับทานให้หลากหลายสี เพื่อให้ได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระได้ครบถ้วน
  6. ทานอาหารแคลเซียมสูงสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ นม เนื่องจากมีปริมาณแคลเซียงสูงและร่างกายดูดซึมได้ดี หากทานนมแล้วท้องอืด อาจแก้ไขด้วยการดื่มนมทีละน้อยแล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นภายหลัง ไม่ควรทานนมตอนท้องว่าง หากไม่ดีขึ้นลองเปลี่ยนมาทานโยเกิร์ต ร่วมกับแหลงแคลเซียมอื่น ๆ อาทิ ชีส เนย ปลาตัวเล็ก กุ้งแห้ง กะปิ เต้าหู้ เป็นต้น
  7. ปรุงอาหารด้วยเกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงอาหารที่มีไอโอดีน เพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน

เพียงเท่านี้ เจ้าตัวเล็กก็มีสุขภาพดี มีร่างกายแข็งแรง และมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่แล้วล่ะค่ะ  

ที่มา : คู่มือการให้คำแนะนำด้านโภชนาการและการออกกำลังกายสำหรับคลินิกฝากครรภ์ยุคใหม่ โดยเครือข่ายคนไทยไร้พุง และสสส.