Sort by
Sort by

เทคนิคเด็ดคุณแม่ สร้างเสริมอัจฉริยะตัวน้อย

3esเทคนิคเด็ดคุณแม่สร้างเสริมอัจฉริยะตัวน้อย

 

สารพัดกิจกรรมของลูกรักอาจสร้างงานให้คุณแม่ปวดหัว เพราะเดี๋ยวเจ้าตัวเล็กก็คลานไปรื้อค้นของ ปีนเก้าอี้ หยิบหนังสือนิทานมาฉีก ต้องวิ่งไล่ตามเก็บอยู่ตลอดเวลา เรามีเทคนิค 5 กิจกรรมสร้างสรรค์ที่ทำกับลูกแล้ว สนุก และช่วยเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกาย และจิตใจของเจ้าตัวเล็กกันด้วย

 

  1. ข้ามผ่านอุปสรรคด้วยเกมเคลื่อนไหวกันเถอะ

    ควรฝึกการเคลื่อนไหวของลูกน้อยวัยหัดเดินโดยอาจใช้อุปกรณ์ช่วยฝึกสมดุล หรือเพิ่มความหลากหลายของการเคลื่อนไหวด้วยการเพิ่มอุปสรรคง่าย ๆ ที่หาได้ภายในบ้าน เช่น คลานเข้าไปใต้โต๊ะ ปีนข้ามเบาะ หมอนหรือผ้าห่ม ช่วยเพิ่มทักษะการหมอบ ยืน เดิน และสอนให้ลูกเรียนรู้อันตรายจากการเดินบนพื้นผิวต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการทรงตัวและจัดสมดุลของร่างกาย ทักษะเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของลูก

  2. เต้นรำให้สนุก ฝึกทักษะการเดิน

    เต้นรำเป็นการฝึกทักษะการเดินที่ยอดเยี่ยม แค่เปิดดนตรี เดินย่ำเท้า กระโดดตบมือ หมุนตัว โดยคุณแม่คอยจับมือหรือประคองตัวลูกอยู่ใกล้ ๆ  เท่านี้เด็ก ๆ ก็สนุกไปกับการร้องรำทำเพลงได้แล้ว หรือจะเล่มเกมง่าย ๆ อย่าง เก้าอี้ดนตรีที่ต้องนั่งเก้าอี้เมื่อเพลงหยุด เป็นการสอนลูกให้รู้จักทำตามคำสั่ง

  3. เล่นน้ำ ฝึกความไว้ใจกัน

     

    น้ำกับเด็กเป็นของคู่กัน การเล่นน้ำไม่ว่าจะเล่นในอ่างน้ำหรือสระว่ายน้ำ จะทำให้เด็กได้เคลื่อนไหวและ บริหารร่างกายไปในตัว การให้เด็กเรียนรู้ที่จะว่ายน้ำตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยให้เด็กมีความคุ้นเคย ไม่กลัวน้ำ มีทัศนคติที่ดีต่อน้ำ และยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สมอง สติปัญญา และอารมณ์อีกด้วย สำหรับพ่อแม่ที่ห่วงเรื่องความปลอดภัย ไม่ควรแสดงออกจนลูกกลัวน้ำ แต่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ลูกไว้ใจว่า มีเราพร้อมช่วยเหลือตลอดเวลาค่ะ

  4. ตั้งเป้าหมายจากการเตะลูกบอลไหมจ๊ะ

    พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวด้วยการเล่นเตะลูกบอลกับเจ้าตัวน้อย โดยตั้งเป้าหมายง่าย ๆ เช่น เบาะโซฟา หรือเก้าอี้ พ่อแม่และลูกลองผลัดกันโยนลูกบอลและเตะไปที่เป้าหมาย เพื่อให้ลูกได้ฝึกเคลื่อนที่ และจัดสมดุลการทรงตัวให้เหมาะสม การผลัดกันเล่นยังช่วยให้เกิดการตอบสนองที่รวดเร็วด้วย

  5. เกมฝึกสมอง สอนให้ลูกจดจำ

    ช่วยลูกเรียนรู้เรื่องสีและการจัดหมวดหมู่โดยการแยกสีลูกบอล หรือแยกของที่มีรูปทรงแตกต่างกัน เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือเล่นเกมเรียกชื่ออวัยวะ เช่น ชี้ไปที่หัวของลูก แล้วถามว่า “นี่คืออะไร” หรือ ทายส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น “หูอยู่ไหน” จะช่วยให้เด็กเรียนรู้และเรียกชื่อส่วนต่างๆ ได้ถูกต้อง ทั้งยังช่วยฝึกความจำอีกด้วย