Sort by
Sort by

อย่ายื่นดาบให้ลูก! สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต ของเล่นไอทีเสี่ยงพัฒนาการช้า

อย่ายื่นดาบให้ลูก! สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต ของเล่นไอทีเสี่ยงพัฒนาการช้า

 

พ่อแม่บางคนยื่นแท็บเล็ตให้ลูก เพื่อแก้ปัญหาเวลาลูกงอแง เป็นวิธีที่ผิดและอันตรายมากค่ะ

 

สังเกตไหมคะว่า ทุกวันนี้ สังคมของเรากำลังกลายเป็น “สังคมก้มหน้า” เวลาเราเดินไปตามถนน ทานข้าว ขึ้นรถไฟฟ้า ผู้คนส่วนมากสนใจข้อมูลข่าวสารในโซเชียลเน็ตเวิร์ค มากกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าซะอีก! ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่นะคะ เด็ก 1 ขวบบางคนใช้แท็บเล็ตสมาร์ทโฟนกันคล่องแคล่ว พ่อแม่เองก็ยื่นให้ลูกทุกครั้งที่งอแง ส่งเสียงดัง กรีดร้อง หรือเริ่มไม่อยู่นิ่ง โดยไม่คำนึงว่ามันจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกเลยค่ะ

 

เด็กเล่นแท็บเล็ตอันตรายอย่างไร?

  1. พัฒนาการทางร่างกายช้า
    เกม การ์ตูน ในจอสี่เหลี่ยม ๆ นั้นมันช่างน่าตื่นเต้น เพลิดเพลิน ดึงดูดความสนใจของเด็กได้มากมายเลยค่ะ ลูกสามารถนั่งดูนิ่ง ๆ ไม่เมื่อย ไม่หิว ไม่เบื่อ ไม่ยอมขยับไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งความจริงแล้วเด็กวัย 1-5 ขวบเป็นวัยที่ไม่ควรอยู่นิ่ง เด็กควรได้ออกไปสำรวจโลกกว้าง ขยับแขนขา อวัยวะต่างๆ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ ระบบประสาท การสูบฉีดเลือด มัวนั่งนิ่งท่าเดิมนาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว เหนื่อยง่าย ป่วยบ่อย ทางที่ดีพ่อแม่พาลูกไปทำกิจกรรม เช่น วิ่งเล่น ปั่นจักรยาน กระโดดโลดเต้น ตามวัยของเขาดีกว่าค่ะ

  2. เจ้าอารมณ์ ขี้วีน
    ภาพที่ลูกเห็นบนหน้าจอส่วนมากจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ลูกเป็นเด็กใจร้อน ขี้หงุดหงิด ก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ หุนหันพลันแล่น ยิ่งเด็กบางคนเล่นแท็บเล็ตจนติดงอแงม พอไม่ได้เล่นก็แผลงฤทธิ์ใส่ จนพ่อแม่ต้องยอมยื่นให้ทุกครั้งเพื่อให้ลูกสงบ แบบนี้ลูกจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความอดทน และไม่รู้จักการรอคอยค่ะ

 

กลายเป็นเด็กอ้วน
เด็กที่ติดแท็บเล็ตมาก ๆ ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็จะต้องมีแท็บเล็ตอยู่ข้างกายเสมอ โดยเฉพาะเวลากินข้าวเขาอาจจะไม่ยอมตักอาหารเอง จนพ่อแม่ต้องป้อนให้ ในขณะที่ตัวเองก็เคี้ยวไปเล่นไปอย่างเพลิดเพลิน กินไปได้เรื่อย ๆ หรือเด็กบางคนเมื่อถึงมื้ออาหารแล้วไม่ยอมมากินนะ จะกินแต่ขนม เพราะไม่อยากพลาดการ์ตูนฉากสำคัญ กินแบบนี้แหละทำให้อ้วนโดยไม่รู้ตัว

เข้าสังคมยาก ไม่มีเพื่อน
การเล่นแท็บเล็ตนั้นเท่ากับเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่มีการโต้ตอบอะไรมากนัก และทำให้ลูกไม่ค่อยได้พบเจอเพื่อนบ้าน ไม่มีเพื่อนเล่นใกล้ชิด พอถึงวัยอนุบาล ต้องเข้าสังคม ก็เลยไม่รู้ว่าจะต้องแสดงออกกับเพื่อนยังไงดี เริ่มกลัวคนแปลกหน้า ไม่รู้วิธีเข้าไปเล่นกับคนอื่น ๆ เมื่อปรับตัวไม่ได้ เข้าหาผู้ใหญ่ไม่เป็น สุดท้ายแล้วก็จะอยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ค่ะ

สมาธิสั้น
หน้าจอสีสันสดใส ภาพสวย เคลื่อนไหวเร็วทันใจ กดปุ่มสั่งงานอะไรได้ตามต้องการ แบบนี้แหละทำให้เด็กจะไม่มีใจจดจ่อกับกิจกรรมอื่น ๆ พอเจอเหตุการณ์ที่ต้องใช้สมาธิหรือสมองในการแก้ปัญหา เขาจะทำไมได้ แถมยังหงุดหงิดง่ายอีกด้วย

แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน อุปกรณ์เหล่านี้ก็มีข้อดีนะคะถ้ารู้จักใช้อย่างเหมาะสม เหมาะกับวัยของลูก หากพ่อแม่จำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้จริง ๆ ก็ควรจะจำกัดเวลาการเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และต้องใช้กับเด็กที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไปค่ะ แล้วระหว่างนั้นก็ควรนั่งเล่นนั่งดูไปด้วย สอน และชวนพูดคุยกันไป ให้ลูกได้สื่อสาร โต้ตอบ ได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกันกับคนในครอบครัว รวมถึงคนอื่น ๆ ในสังคมด้วยนะคะ