Sort by
Sort by

ไขรหัสฝึกสร้างนิสัยสุนัข

ไขรหัสฝึกสร้างนิสัยสุนัข
สำหรับทุกครอบครัวที่กำลังจะสร้างพฤติกรรมรักสัตว์ให้เด็กเพื่อให้เขาเกิดความอ่อนโยนในจิตใจ แนะนำว่าเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นสองเท่าควรให้เด็กเป็นคนฝึกพฤติกรรมของสุนัขให้มีความประพฤติที่เหมาะสม พร้อมกับให้เขามีโอกาสดูแลกันและกัน เพื่อจะได้เติมเต็มพัฒนาการด้านระเบียบวินัยให้เติบโตอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่ต้องวุ่นวายไปกับการดูแลสุนัขอีกด้วย

Do It : การฝึกฝนสร้างนิสัยให้สุนัขหมายถึงการดูแลสุนัขไม่ให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยต้องคอยสังเกตทั้งเวลาที่สุนัขอยู่กับคุณและเวลาลับตาว่ามีพฤติกรรมเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

Try It : หลักการฝึกคือ หากสุนัขไม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คุณก็ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงพฤติกรรมหรือใช้ไม้แข็งในการฝึกฝนสุนัข แต่อาจจะใช้ไม้อ่อนเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมบางอย่างให้เป็นไปในทางที่คุณต้องการ แต่ถ้าเป็นสุนัขที่ค่อนข้างดื้อ เจ้าของอาจต้องแข็งใจใช้ไม้แข็งจัดการเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวได้อย่างมีความสุข ซึ่งการฝึกไม่ว่าจะใช้ไม้อ่อนหรือไม้แข็ง เจ้าของควรเข้าร่วมในการฝึกอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะมีข้อดี 2 ประการ คือ
1. คุณจะกลายเป็นหัวหน้าฝูงในความรู้สึกของสุนัข
2. สร้างสายสัมพันธ์ในฐานะ “เพื่อน” ใหม่ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

Secret Tips : หากคุณนำลูกสุนัขที่ซื้อมาใหม่กลับบ้านและปล่อยให้วิ่งในบ้านอย่างอิสระ เพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น ลูกสุนัขจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นใหญ่ในบ้านและกัดแทะข้าวของในทันที แต่ในทางกลับกัน
หากคุณเลือกฝึกสร้างนิสัยสุนัขตั้งแต่เล็ก ด้วยการให้ลูกสุนัขอยู่เฉพาะในบริเวณที่คุณอยู่ด้วยเท่านั้น เขาจะเชื่อฟังและมีความเป็นระเบียบมากกว่า โดยวิธีการอาจทำได้โดยการเตรียมของสำหรับกัดเล่นไว้เพื่อส่งให้ลูกสุนัข หากพบว่าสุนัขกำลังกัดแทะข้าวของที่ไม่ควรเล่น เช่น ผ้าม่าน พร้อมกับให้คุณเบี่ยงเบนความสนใจของสุนัขโดยพูดว่า “อย่าทำ” ด้วยเสียงหนักแน่น แล้วจึงส่งของกัดเล่นให้พร้อมคำชม วิธีนี้จะทำให้สุนัขสามารถเชื่อมโยงคำชมกับของเล่นที่เหมาะสมได้

นอกจากนี้โทนเสียงยังสัมพันธ์กับการควบคุมพฤติกรรมของสุนัข ดังนี้

โทนเสียงแหลมและฟังดูตื่นเต้น : โทนนี้จะช่วยกระตุ้นสุนัขของคุณ (ให้เดินมาหาเมื่อถูกเรียกหรือเดินตาม) นอกจากนี้ยังช่วยเตือนให้สุนัขนึกถึงเพื่อน (ด้วยเหตุนี้สุนัขจึงไม่ค่อยกลัวเด็กๆ เพราะรู้สึกว่าเท่าเทียมกัน)

โทนเสียงแบบเป็นการเป็นงาน : ควรเลือกใช้เมื่อต้องการออกคำสั่งให้สุนัขปฏิบัติตาม (เนื่องจากเป็นโทนเดียวกับการเห่าที่แสดงถึงความสุขุม สั่งการ และไม่มีความเร่งด่วนแต่อย่างใด)

โทนเสียงต่ำ : เมื่อพูดด้วยโทนเสียงทุ้มต่ำจะกระตุ้นให้ สุนัขคำราม (ซึ่งหมายความว่าหยุดพฤติกรรมที่กำลังทำอยู่เดี๋ยวนี้) โปรดจำไว้เสมอว่าการตะโกนหรือตีสุนัขมีแต่จะทำให้สุนัขสับสนและเกิดความไม่ เชื่อใจคุณขึ้น เพราะสุนัขไม่เข้าใจว่าทำไมถึงถูกตีหรือถูกจับให้อยู่นิ่งๆ รู้เพียงอย่างเดียวว่าพวกเขาไม่สามารถเชื่อใจคุณได้อีกต่อไป หรือไม่ก็กลัวคุณแทน
อีกหนึ่งคำสั่งที่น่าสนใจเพราะสามารถสั่งได้อย่างเด็ดขาดคือ “สายตา” การสบตามีหลายนัยยะ อาจหมายถึงคุณกำลังมองสุนัขของคุณด้วยความรัก ซึ่งสุนัขจะส่งสายตาตอบกลับมา หรือเมื่อคุณจ้องเข้าไปในตาสุนัขของคุณในตอนที่มันกระโดดขึ้นมาบนตัก และคุณบอกให้มัน “ออกไป” นั้น การจ้องตาเช่นนี้หมายถึง “ฉันหมายความอย่างนั้นจริงๆ”

ภาษากายก็เป็นสิ่งสำคัญ หากสุนัขของคุณงอตัว หมอบราบไปกับพื้น หรือปัสสาวะราดเล็กน้อย ไม่ว่าคุณจะเข้าใกล้หรือไม่ โดยคุณไม่เคยตีพวกเขาเลย แต่ทำไมสุนัขจึงแสดงออกเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ว่าลักษณะท่าทางและวิธีที่คุณเดินเข้าหา ขนาดตัวที่ใหญ่กว่า หรือการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว อาจจะทำให้สุนัขรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม หากเป็นเช่นนั้น ลองกระตุ้นให้สุนัขเข้ามาหาคุณเอง โดนย่อตัวลงให้เท่ากับพวกเขา เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าถูกคุกคาม โดยใช้อาหารสุนัขหรือของเล่นชิ้นโปรดเพื่อเรียกให้สุนัขเข้ามาใกล้คุณ และพอเข้ามาใกล้มากๆ แล้ว ให้กอดและลูบตัวเบาๆ (อย่ายื่นมือออกไป) และอย่าลืมชมที่สุนัขของคุณกล้าเข้ามาหา

บ่อยครั้งที่เรามักปลอบโยนเมื่อสุนัขแสดงอาการกลัว ซึ่งเป็นปฏิกิริยาธรรมดาของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม สำหรับสุนัข การปลอบโยนกลับเป็นการยืนยันความกลัวของมัน ยกตัวอย่างเช่น ลูกของคุณทำฝาปิดกะทะที่เป็นโลหะหล่นลงพื้นห้องครัว ไม่ทันไรสุนัขของคุณก็กระโจนเข้าไปอยู่ใต้เฟอร์นิเจอร์ที่ใกล้ที่สุดและตัว สั่นงันงกไปหมด แทนที่คุณจะดึงสุนัขออกจากใต้เฟอร์นิเจอร์และปลอบโยน (ซึ่งเท่ากับพูดกับสุนัขว่า “ไม่แปลกที่จะกลัว”) ให้พยายามทำให้เป็นเรื่องสนุก หัวเราะ และเป็นบวก โดยสุนัขจะจับอารมณ์ของคุณได้ ดังนั้นพยายามแสดงให้สุนัขเห็นว่าไม่มีอะไรต้องกลัว