Sort by
Sort by

ใส่ใจโภชนาการ ห่างไกลเบาหวาน

ใส่ใจโภชนาการ ห่างไกลเบาหวาน

จากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เมื่อ พ.ศ. 2552 พบว่าเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 6.9 อายุที่เริ่มเป็นโรคเบาหวานลดน้อยลง ผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย และคนในเมืองเป็นมากกว่าคนในชนบท หมายความว่า ในขณะนี้ประชากรไทยที่เป็นโรคเบาหวานมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน ที่น่ากังวลคือ ประมาณ 1 ใน 3 ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ประชากรไทยอีกจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานในอนาคต

เบาหวานเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งในกระแสเลือดของคนเราจะมีน้ำตาลอยู่ตลอดเวลา เมื่อหัวใจสูบฉีด กระแสเลือดที่ไหลเวียนจะนำน้ำตาลไปให้เซลล์ทั่วร่างกายใช้เป็นพลังงาน เปรียบได้กับต้นไม้ที่ต้องการน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงส่วนของลำต้น ใบ ดอก และผล ในคนปกติหลังจากรับประทานอาหาร ส่วนที่เป็นคาร์โบไฮเดรต คือ ข้าว แป้ง และน้ำตาลจะมีการย่อยและดูดซึมที่ทางเดินอาหารในรูปน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ตามปกติระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงสุดประมาณ 1 ชั่วโมงหลังการรับประทานอาหาร และระดับน้ำตาลในเลือดจะค่อยๆ ลดลงหลังจากที่ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงาน โดยการควบคุมของฮอร์โมน “อินซูลิน” ซึ่งผลิตจากเบต้าเซลล์ในตับอ่อน

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเบาหวานที่เกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมกัน โดยมีทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยจากภายนอก สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือ ภาวะดื้ออินซูลิน และมีความผิดปกติในการหลั่งอินซูลินของตับอ่อน และยังมีปัจจัยซ้ำเติมจากภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ พฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกต้อง รับประทานอาหารมากเกินความต้องการ อาหารที่รับประทานไม่ถูกหลักโภชนาการ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม นั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะเป็นประจำ ใช้อุปกรณ์ผ่อนแรง และภาวะเร่งรีบของชีวิตคนในเมืองรวมทั้งภาวะเครียด อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันได้ด้วยการกินหรือโภชนาการที่เหมาะสม

กินเป็น ห่างไกลเบาหวาน

  • จำกัดปริมาณอาหารที่รับประทานให้พอเหมาะ และหลากหลาย กินอาหารครบทุกหมู่
  • จำกัดการรับประทานน้ำมันหรือไขมัน น้ำตาล เกลือ แอลกอฮอล์
  • เลือกคาร์โบไฮเดรตชนิดดี เนื่องจากหลังการรับประทานอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณและชนิดของอาหารคาร์โบไฮเดรตที่รับประทาน อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ประกอบด้วย ข้าว แป้ง ถั่วต่างๆ และน้ำตาล การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่หวานจัดและมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตพอควร มีแนวโน้มที่จะป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ และอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำยังเหมาะสำหรับการลดน้ำหนักด้วย แนะนำให้รับประทาน ธัญพืชเต็มเมล็ดหรือขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด เผือก ขนมปังโฮลวีท ซีเรียลโฮลเกรน และควรหลีกเลี่ยงข้าวขาว ข้าวเหนียว ขนมปังขาว แครกเกอร์ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง ฟักทอง เพราะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากกว่า
  • ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร โดยเฉพาะใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ (soluble dietary fiber) เพราะจะพองตัวเป็นวุ้นเหนียวในลำไส้ ทำให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมอาหารช้าลง ช่วยลดอัตราการดูดซึมน้ำตาล จึงทำให้ระดับน้าตาลในเลือดไม่สูงขึ้นรวดเร็ว พบมากในธัญพืชไม่ขัดสี หรือธัญพืชที่ขัดสีน้อย ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง และผลไม้ เช่น ฝรั่ง แอปเปิล  เครื่องดื่มธัญญาหารที่มีการเสริมใยอาหารต่างๆ
  • สำหรับผู้ที่ระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มสูง และต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาจเสริมด้วยเครื่องดื่มสูตรสารอาหารครบถ้วนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

เมื่อกินดีแล้ว อย่าลืมปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียดด้วย ก็จะช่วยให้ห่างไกลเบาหวานได้