Sort by
Sort by

โรคแพ้นมวัว

โรคแพ้นมวัว
“แพ้นมวัว” เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคแพ้อาหารซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางระบบภูมิคุ้มกัน ถึงแม้ว่าส่วนประกอบต่างๆ ของนมวัวจะคล้ายคลึงกับนมแม่ แต่โปรตีนในนมวัวนั้นมีลักษณะแตกต่างกับคนมาก และระบบย่อยของเด็กทารกซึ่งยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เมื่อได้รับโปรตีนจากนมวัวจึงทำให้เด็กเกิดอาการแพ้ได้

สาเหตุ พบว่าพันธุกรรมมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคภูมิแพ้เป็นอย่างมาก รวมทั้งการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ การได้รับนมวัวตั้งแต่อายุน้อยกว่า 6 เดือน และวิธีการคลอด

อาการแสดง มีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ทางผิวหนังไปจนถึงอาการแพ้รุนแรงจนช็อก สำหรับในเด็กไทยที่แพ้นมวัวมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมากที่สุดคือร้อยละ 43.2 (น้ำมูกเรื้อรังร้อยละ 37.1 คัดจมูกร้อยละ 32.9 หอบหืดร้อยละ 21.3 เสมหะมากในหลอดลมร้อยละ 8.4 ไอเป็นเลือดร้อยละ 0.3 ) ระบบทางเดินอาหารร้อยละ 22.5 (ท้องเสียร้อยละ 33.3 อาเจียนร้อยละ 22.0 เลือดออกในทางเดินอาหารร้อยละ 15.1 ลำไส้อักเสบร้อยละ 9.1 กรดไหลย้อนร้อยละ 8.0 ปวดท้องร้อยละ 7.0 ท้องผูกร้อยละ 2.7 ภาวะโปรตีนรั่วในลำไส้ร้อยละ 1.1 ถ่ายเป็นน้ำมันร้อยละ 1.1) ระบบผิวหนังร้อยละ 20.1 (ผื่นเม็ดทรายร้อยละ 72.3 ลมพิษร้อยละ 27.7 ) อาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักไม่ขึ้นร้อยละ 10.9 โลหิตจางร้อยละ 2.8 พูดช้าร้อยละ 0.2 แพ้รุนแรงจนช็อกร้อยละ 0.2 โดยเด็กจะมีอาการแพ้อาหารอื่นๆ ร่วมด้วยถึงร้อยละ 50 ซึ่งอาหารที่แพ้โดยมากจะเป็นกลุ่มของไข่ อาหารทะเล และเมื่อเด็กโตขึ้นจะมีอาการแพ้อากาศได้ถึงร้อยละ 40

สำหรับการวินิจฉัยนั้นแพทย์อาศัยจากการซักประวัติเป็นสำคัญ ได้แก่
1. มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อ หรือ แม่ และถ้ามีพี่แพ้นมวัวด้วยแล้ว เด็กคนนี้ก็จะมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น
2. มีอาการแสดงที่มักจะเริ่มภายใน 3-6 เดือนหลังจากเด็กเริ่มทานนมวัว และยังขึ้นกับปริมาณนมวัวที่ได้รับด้วย
3. อาการแสดงที่กล่าวมาแล้วนั้น ส่วนมากจะมีอาการแสดงมากกว่า 2 อาการ และมากกว่า 2 ระบบขึ้นไป และมีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ เริ่มตั้งแต่ในขวบปีแรก
4. มักจะมีประวัติคุณแม่ทานนมวัวในช่วงตั้งครรภ์มากกว่าปกติ เนื่องจากต้องการบำรุงทารกในครรภ์ โดยไม่ทราบว่าโปรตีนนมวัวที่แม่ทานจะผ่านจากแม่ไปกระตุ้นให้เกิดการแพ้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์
5. ในกรณีที่เด็กทานนมแม่อย่างเดียว มักพบว่าคุณแม่ทานนมวัวมากกว่าปกติ ขณะให้นมลูก
6. อาการสำคัญอีกอย่างที่ควรทำให้นึกถึงแพ้นมวัว คือ เด็กมักจะมีน้ำหนักน้อยกว่าที่ควร เป็นเด็กที่ทานนมน้อย
ทานนมยาก มีประวัติเปลี่ยนนมมาหลายยี่ห้อ ป่วยบ่อยและเรื้อรัง

การวินิจฉัย โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้น ในกลุ่มที่เกิดจาก IgE ก็ยังสามารถตรวจหาภูมิต่อต้านกับอาหารที่สงสัยโดยวิธีการสะกิดที่ผิวหนัง หรือเจาะเลือดส่งตรวจก็ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจพบได้ทุกคนที่แพ้อาหาร ถ้ายิ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เกิดจาก IgE ก็จะยิ่งหาวิธีตรวจได้ยากมากขึ้น สุดท้ายก็ต้องจบด้วยการลองให้ทานนมวัวและเฝ้าดูอาการที่เกิดขึ้น เท่านั้นเป็นการวินิจฉัยโรคแพ้นมวัวที่น่าเชื่อถือมากที่สุด

การรักษา ที่ถูกต้องและดีที่สุดสำหรับอาการแพ้นมวัวคือ การงดทานนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกชนิดอย่างน้อย 1 ปี หรือนานกว่านั้นตามความรุนแรงของอาการ แต่ถ้าคุณแม่ไม่มีน้ำนมแล้ว ควรให้เด็กดื่มนมสูตรพิเศษสำหรับเด็กที่มีอาการแพ้นมวัวแทน และเริ่มให้อาหารเสริมเมื่อเด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไป โดยอาจจะเริ่มให้ไข่แดงหลังอายุ 6 เดือนไปแล้ว จากรายงานการติดตามเด็กที่แพ้นมวัวอย่างน้อย 6 ปี พบว่าเด็กที่แพ้นมวัวถ้าเริ่มให้การรักษาแล้วร้อยละ 50 จะหายภายใน 1 ปี ร้อยละ 60 จะหายภายใน 2 ปี ร้อยละ 85 จะหายภายใน 3 ปี และร้อยละ 92 จะหายภายใน 10 ปี

ที่มา: รศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์