Sort by
Sort by

เบาหวาน...ป้องกันได้

เบาหวาน...ป้องกันได้

เบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น มีสาเหตุมาจากการหลั่งอินซูลิน (insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอ เรียกว่ามี ภาวะขาดอินซูลิน หรือเกิดจากความสามารถในการตอบสนองต่อฤทธิ์ของอินซูลินลดลง เรียกว่ามี ภาวะดื้ออินซูลิน การที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานๆ ส่งผลให้อวัยวะและเนื้อเยื่อทั้งหมดของร่างกายมีความผิดปกติในการทำงานเกิดขึ้นและทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นในอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ตา ไต เส้นประสาทและสมอง หัวใจ หรือเกิดปัญหาที่เท้า

เบาหวานแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. เบาหวานชนิดที่ 1 ร่างกายมีการผลิตอินซูลินน้อยมากหรือขาดอินซูลินโดยสิ้นเชิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะร่างกายสร้างแอนติบอดี้ทำลายเบต้าเซลล์ที่สร้างอินซูลิน พบประมาณร้อยละ 5-10 จากการวินิจฉัยโรคเบาหวานทั้งหมด
  2. เบาหวานชนิดที่ 2 ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินที่ผลิตมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน พบประมาณ ร้อยละ 90-95 จากการวินิจฉัยโรคเบาหวานทั้งหมด

สำหรับเบาหวานชนิดอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ เบาหวานที่เกิดในขณะตั้งครรภ์ หรือเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุเฉพาะเจาะจง เช่น ความบกพร่องทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน ความผิดปกติของฮอร์โมน เป็นต้น

โดยเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 80 ด้วยการปรับการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม และเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน

  1. ปัจจัยสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่ กรรมพันธุ์ อายุที่เพิ่มขึ้น ประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดเกิน 4 กิโลกรัม
  2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่ อ้วน ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของไขมันในเลือด การขาดการออกกำลังกาย

เบาหวาน...ป้องกันอย่างไร

1. การรับประทานอาหาร
  • เลือกอาหารที่เหมาะสม มีความหลากหลายครบ 5 หมู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และความสมดุลของสารอาหารที่ร่างกายต้องการ
  • เลือกอาหารที่รสไม่จัด ลดการรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็มลง เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ที่รสไม่หวาน
  • เลือกกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท หรือซีเรียลโฮลเกรน
  • ปรุงอาหารด้วยวิธีต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ ยำ และผัดที่ใช้น้ำมันน้อย มากกว่าอาหารประเภททอด
  • ควรลดอาหารมัน เช่น ของทอด ของมัน ขาหมู หมูสามชั้น อาหารหรือขนมที่ใส่กะทิ
  • ชิมก่อนเติมเครื่องปรุง และพยายามไม่เติมเพิ่ม
  • ลดการซื้อขนมหวานและขนมกรุบกรอบเก็บไว้ที่บ้าน
  • ลดการดื่มน้ำหวาน และน้ำอัดลม
  • รับประทาน ผัก 3-5 ส่วนต่อวัน ได้แก่ ผักสด 3-5 ทัพพีต่อวัน หรือ ผักสุก 9 ช้อนโต๊ะต่อวัน
  • รับประทาน ผลไม้ 2-4 ส่วนต่อวัน (ผลไม้ขนาดกลาง เช่น ส้ม กล้วย แอปเปิ้ล 1 ผล เท่ากับ 1 ส่วน)
  • เลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงจากการได้รับควันบุหรี่
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์
2. การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายที่กระฉับกระเฉง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
  • เดินให้มากขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น

3. การควบคุมให้น้ำหนักตัวที่เหมาะสม อย่าปล่อยให้อ้วนลงพุง เพราะจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน 3-5 เท่า
4. ทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลายความเครียด
5. ตรวจสุขภาพประจำปี ในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปควรไปรับการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ ปีละ 1 ครั้ง