Sort by
Sort by

บันทึกล้ำค่า…เพื่อการพัฒนาลูกน้อย

บันทึกล้ำค่า…เพื่อการพัฒนาลูกน้อย
สวัสดีเดือนแห่งคุณแม่ค่ะ

นอกจากสนุกกับการบันทึกรูปลูกรักมากมายนับร้อยนับพันรูปเพื่อความสนุกสนานแล้ว คุณเคย ‘เขียน’ หรือ ‘จดบันทึก’ สิ่งละอันพันละน้อย ตลอดจนเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องสำคัญ ๆ เกี่ยวกับลูกเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมพัฒนาการของพวกเขาอย่างถูกทางบ้างไหมคะ

ถ้าไม่เคย ขอเชิญชวนทั้งคุณแม่และคุณพ่อว่าน่าจะลองทำควบคู่ไปกับการถ่ายภาพค่ะ เพราะบันทึกที่ดีจะช่วยให้เราจับสังเกตพัฒนาการเขาได้ชัดขึ้น และกรณีที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับสุขภาพ พฤติกรรม การเรียน ความชอบในสิ่งต่าง ๆ

ก็เหมือนบันทึกสุขภาพที่โรงพยาบาลจะมีให้คุณพ่อคุณแม่เก็บไว้ว่า เวลาไหนต้องมารับวัคซีนชนิดใด เวลาไหนต้องมาตรวจร่างกาย

ก็เหมือนกับสมุดพกที่โรงเรียนจะมีให้เจ้าหนูและผู้ปกครองได้รับทราบพัฒนาการเรียน พฤติกรรม นิสัยเมื่ออยู่โรงเรียน

แต่บันทึกของคุณพ่อ คุณแม่ ควรละเอียดกว่านั้นค่ะ และจะเป็นของที่มีค่ามากทีเดียวถ้าเก็บรักษาไว้จนถึงวันที่เขาโตขึ้น ไม่ควรปล่อยให้บันทึกพัฒนาการเป็นแต่เรื่องของหมอ ของครู หรือคนนอกครอบครัวนะคะ เพราะเมื่อเกิดอะไรขึ้นก็ตาม พ่อและแม่จะมองปัญหาได้ละเอียดลออที่สุด

เป็นต้นว่า หากคุณย้อนดูบันทึกและวิเคราะห์พบว่า ลูกน้อยมีอาการผื่นขึ้นเต็มตัวทุกครั้งเมื่อถึงคืนวันอาทิตย์ก่อนไปโรงเรียนในวันจันทร์ คุณอาจจะต้องสืบสาวต่อไปแล้วล่ะค่ะว่า ไอ้ตัวเปี๊ยกเป็นอะไรกันแน่ คุณอาจจะทราบดีกว่าหมอและจัดการกับปัญหาได้ถูกวิธีก็เป็นได้ หรือ ถ้าพบว่าวันนี้มีแขกมาบ้าน และเจ้าหนูทานข้าวได้เองหมดจาน แถมทานผักอวดซะด้วย คุณก็รู้ซะทีค่ะว่า ที่ปกติอิดออดไม่ยอมทานผัก ไม่ใช่เพราะระบบเซนเซอร์ในปากปฏิเสธรสขม หรือถ้าประมวลจากบันทึกแล้วพบว่า ลูกชายวัยรุ่นของคุณทำการบ้านคณิตศาสตร์ได้รวดเร็ว สอบก็ทำคะแนนได้ดี แถมสนุกกับการสอนเลขเพื่อน ก็จะรู้ว่า ควรส่งเสริมเขาไปทางใด เป็นต้น

เห็นว่าบันทึกสำคัญแล้วใช่ไหมล่ะคะ

เครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับการบันทึกไม่ใช่ปากา หรือ สมุดนะคะ แต่คือ “การสังเกต” ค่ะ แต่กระนั้น การบันทึกก็ต้องมีชีวิตชีวา มีสีสันน่าอ่านด้วย เพื่อช่วยความง่ายในการประมวลผล และประเมินพัฒนาการของพวกเขาค่ะ

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการเตรียมสมุดบันทึกค่ะ
  • สมุดคู่ใจ จะเลือกสมุดหน้ากระดาษเปล่าสำหรับไว้เขียนเป็นหลัก หรือถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่มีหัวใจนักประดิษฐ์ ก็อาจเลือก scrab book สวย ๆ ซึ่งปัจจุบันมีมากมาย เลือกที่กระดาษหนาสักหน่อย เพื่อเก็บไว้ได้นานปี หรือ คุณแม่ทันสมัยจะเลือกสมุดบันทึกเป็ฯ blog แขวนไว้บนเว็บก็ได้นะคะ อันนี้แบ่งปันให้คนอื่นอ่านได้ด้วย แต่ข้อเสียก็คือ ไม่มีอะไรรับประกันว่า เว็บเจ้าของบล็อกนั้นจะอยู่ไปตลอดการ
  • กล้อง การถ่ายภาพยังสำคัญอยู่นะคะ แต่แทนที่จะถ่ายเพื่อความบันเทิงในครอบครัว เน้นความน่ารัก หรือการโพสท่าเก๋ ๆ ควรเพิ่มการถ่ายภาพที่สะท้อนจินตนาการ พัฒนาการ ความสามารถของลูกน้อยด้วย เช่น ผลงานศิลปะ การแสดงความสามารถในเวทีต่าง ๆ เป็นต้น เพราะการย้อนดูบันทึกที่เป็นภาพจะเรียกความทรงจำได้ง่ายกว่าการอ่านเป็นตัวหนังสือค่ะ
  • รวมงานเด่น-งานแป้ก เพื่อได้เห็นบันทึกพัฒนาการของลูกอย่างชัดเจน ควรมีผลงานของลูกทั้งงานที่ประสบความสำเร็จและงานชิ้นที่ไม่เข้าตากรรมการ เพื่อให้ได้ทราบพัฒนาการ ความแตกต่างทางอารมณ์ เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเขา เพื่อจะได้แนะนำอย่างถูกทาง
  • สถิติ-ตาราง เพื่อการอ่านพัฒนาการของลูกน้อยได้ดี ควรจัดทำข้อมูลเป็นตารางหรือสถิติไว้ด้วย เพื่อง่ายต่อการอ่านและการประเมิน เช่น
เตะบอลแล้วสุขภาพดีขึ้นไหม
 
สัปดาห์แรก
ดีใจเปิดเทอม
ได้เจอก๊วนบอล
ซ้อมบอลจันทร์ พุธ ศุกร์ น้ำมูกไหลตอนเช้า
และจามมากเสีย
จนฟังแล้วเหนื่อยแทน
สัปดาห์ที่สอง
ขยันซ้อมบอลเหลือเกิน
กลับบ้านสองทุ่ม
ซ้อมบอลจันทร์ พุธ ศุกร์ น้ำมูกไหลตอนเช้า
จามน้อยลง
สัปดาห์ที่สาม
ขยันซ้อมบอล
แต่กลับเร็วเพราะฝนตก
ซ้อมบอลจันทร์ พุธ ศุกร์
ว่ายน้ำเสาร์-อาทิตย์
อาทิตย์ได้ยินเสียงฟึดฟัดบ้าง
แต่ไม่มากนัก
สัปดาห์ที่สี่.
ฟิตทุกวัน
ไม่รู้จะไปแข่งที่ไหน
ซ้อมบอลจันทร์ ถึงศุกร์ แปลกแฮะ อาทิตย์นี้ไม่ได้
ยินเสียงจามตอนเช้าเลย

  • สรรพสี สมุดบันทึกจะสนุก น่าอ่าน ก็เมื่อมีสีสันประกอบด้วยนะคะ ฉะนั้น สี สติ๊กเกอร์ ไม่ต้องอั้นค่ะ ใช้ได้เต็มที่ค่ะคุณแม่
  • เวลา ข้อนี้สำคัญค่ะ ห้าข้อแรกอาจถูกทิ้งร้าง ถ้าไม่คุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมจัดสรรเวลาเพื่อการบันทึกพัฒนาการของลูกน้อยบ้าง ไม่จำเป็นต้องบันทึกทุกวันนะคะ อาจจะสัปดาห์ละครั้ง หรือ เดือนละครั้ง แล้วแต่ว่าช่วงนั้นมีเหตุการณ์หรือเรื่องราวอะไรสำคัญ ของเพียงแต่ให้เป็นการบันทึกอย่างมีความหมายและมีเป้าหมายค่ะ
บันทึกด้วย ‘สายตาห่วงใย’ และ ‘ดวงใจรัก’ จากคุณพ่อคุณแม่ เป็นบันทึกที่สวยงามที่สุดในโลกค่ะ