Sort by
Sort by

ทำความรู้จักกับมะเร็งในสุนัข

ทำความรู้จักกับมะเร็งในสุนัข
มะเร็ง (Cancer) คือความผิดปกติที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทั้งต่อตัวมนุษย์เองและในสัตว์เลี้ยงใกล้ชิดอย่างสุนัขหรือแมว เพราะจุดจบของโรคร้ายโรคนี้คือการเสียชีวิต ที่ต้องผ่านความทรมานนานัปการในระหว่างเจ็บป่วย ดังนั้น นอกจากคุณจะดูแลตัวเองและสมาชิกในครอบครัวให้ไกลห่างจากมะเร็งร้ายแล้ว สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข ที่ถือเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของมนุษย์ก็ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยเช่นกัน มาทำความรู้จักมะเร็งในสุนัขให้มากขึ้น เพื่อรู้เท่าทันและรักษาได้อย่างถูกวิธี

มะเร็งเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในสุนัขทุกตัว สิ่งที่เจ้าของทำได้ดีที่สุดคือ หมั่นสังเกตลักษณะความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสุนัข และพาไปพบสัตวแพทย์ให้ทันท่วงที โดยสัญญาณอันตรายของมะเร็งสังเกตได้จากหลายลักษณะ อาทิ มีการบวมขึ้นอย่างผิดปกติที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอย่างต่อเนื่อง เกิดแผลที่ไม่หายและเป็นเรื้อรัง น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว มีเลือดหรือสารคัดหลั่งออกมาจากช่องเปิดต่างๆ ในร่างกาย มีกลิ่นตัวผิดปกติ เจ็บขาเรื้อรัง หายใจลำบาก เป็นต้น

ลักษณะของมะเร็งในสุนัขไม่ต่างจากในมนุษย์มากนัก สุนัขมีโอกาสเป็นทั้งมะเร็งที่อัณฑะในช่องท้อง มะเร็งเต้านม มะเร็งปาก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และในสุนัขพันธุ์ใหญ่อย่างร็อตไวเลอร์ โดเบอร์แมน และเยอรมัน เชพเพิร์ด มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งกระดูกได้ ส่วนมะเร็งที่พบบ่อยในสุนัขพันธุ์บ๊อกเซอร์ได้แก่ มะเร็งผิวหนัง ซึ่งควรรักษาโดยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายที่ผิวหนังออกโดยเร็ว แม้การผ่าตัดจะไม่ใช่วิธีรักษาที่ดีที่สุดก็ตาม

วิธีการที่ดีที่สุดและช่วยยืดระยะเวลาของสุนัขที่ป่วยเป็นมะเร็งให้อยู่กับเจ้าของได้นานที่สุดนั้น คือการจัดการเรื่องใกล้ตัวอย่างเรื่องของอาหาร ด้วยการเปลี่ยนแปลงอาหารให้แตกต่างไปจากอาหารสำเร็จรูปทั่วๆ ไป เพื่อช่วยชะลอความรุนแรงและการแพร่กระจายของมะเร็งที่ตรวจพบ เพราะการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นกับร่างกายของสัตว์เลี้ยงที่ป่วยเป็นมะเร็งนั้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของขบวนการทางเคมี ที่มีความสัมพันธ์กับโภชนาการ (Metabolism) โดยทั่วไป สัตว์ตัวที่ป่วยเป็นมะเร็งมีการใช้ประโยชน์จากคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันจากอาหารที่กินเข้าไปได้แตกต่างจากสัตว์ตัวที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลให้สัตว์ป่วยส่วนใหญ่แสดงอาการขาดสารอาหาร (Cachexia) ทั้งๆ ที่สัตว์ยังกินอาหารได้ในปริมาณปกติ ทำให้สัตว์เลี้ยงมีน้ำหนักตัวลดลง

เช่นเดียวกับเซลล์มะเร็งในมนุษย์ที่ใช้กลูโคสที่ได้จากการย่อยคาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานหลัก ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าของไม่ทราบว่าสัตว์เลี้ยงของตนป่วยเป็นมะเร็ง และเมื่อสัตว์เลี้ยงเริ่มมีน้ำหนักลดลงจึงเพิ่มปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ ซึ่งอาหารสำเร็จรูปทั่วไปรวมทั้งอาหารว่างชนิดต่างๆ ล้วนมีส่วนประกอบสำคัญเป็นคาร์โบไฮเดรตทั้งสิ้น ผลลัพธ์ก็คือ เซลล์มะเร็งได้รับพลังงานในการเติบโตอย่างเต็มเปี่ยม ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

การจัดอาหารเพื่อต่อสู้กับมะเร็งจึงยึดหลักว่าต้องให้อาหารที่ร่างกายของสัตว์เลี้ยงสามารถนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ในขณะเดียวกันต้องให้เซลล์มะเร็งได้รับประโยชน์น้อยที่สุดด้วย เมื่อสัตว์ป่วยมีร่างกายอยู่ในสภาพที่ได้รับสารอาหารและพลังงานเพียงพอกับความต้องการจะสามารถตอบสนองต่อการรักษา และปฏิบัติการต่างๆ โดยสัตวแพทย์ได้ดีขึ้น รวมถึงความสามารถของร่างกายในการสร้างภูมิต้านทานโรคที่ดีขึ้นด้วย

เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงควรเลือกอาหารที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตต่ำ โปรตีนสูง มีกรดไขมันในกลุ่มโอเมกา 3 ที่มีคุณสมบัติช่วยระงับการเติบโตของเซลล์เนื้องอก และลดการอักเสบได้ดี นอกจากนี้ วิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดยังมีผลช่วยชะลอการแพร่กระจายหรือการเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ เช่น สารในกลุ่มวิตามินเอทั้งจากธรรมชาติและสารสังเคราะห์ วิตามินซี วิตามินอี ส่วนแร่ธาตุได้แก่ ซีลีเนียม เหล็ก และสังกะสี ในปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปหลายยี่ห้อที่ผลิตขึ้นสำหรับสัตว์ป่วยเป็นมะเร็งโดยเฉพาะ เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถศึกษาข้อมูลหรือปรึกษาสัตวแพทย์ผู้มีความชำนาญได้ เพื่ออายุที่ยืนยาวของสมาชิกประจำครอบครัว