Sort by
Sort by

ตั้งครรภ์อย่างไรให้มีความสุข

ตั้งครรภ์อย่างไรให้มีความสุข
คุณแม่มือใหม่ที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์เริ่มแรก ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย จึงอาจทำให้มีเกิดความวิตกกังวล เครียด อารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย และรู้สึกสับสน ซึ่งหากปล่อยไว้นาน อารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้ ก็อาจส่งผลต่ออารมณ์และนิสัยของเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในครรภ์ได้ อาจส่งผลให้เขากลายเป็นเด็กงอแง เลี้ยงยาก ดังนั้น สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทำเป็นอันดับแรกคือ การทำใจยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีสูตรที่เป็นสากลสำหรับความสุข แต่การให้ความสำคัญ และเข้าใจกับทุกๆการเปลี่ยนแปลงของตัวคุณแม่เอง ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีซึ่งจะนำไปสู่สุขภาพที่ดีทั้งใจและกายของทั้งแม่และลูกน้อยในครรภ์

สำหรับการเปลี่ยนแปลงในตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ที่คุณแม่ต้องยอมรับคือ อาการประจำเดือนขาด ปัสสาวะบ่อย อาการแพ้ท้อง เต้านมขยายใหญ่และคัด น้ำหนักตัวขึ้น ท้องขยายใหญ่ขึ้นและแตกลาย ผมมันผมแห้ง เกิดปัญหาในช่องปาก การตกขาว อาการท้องผูก หลอดเลือดขอด และอ่อนเพลียง่าย แต่สิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลใจ หากคุณแม่ปฏิบัติตามเคล็ดลับในการรับมือกับการตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้

1.วิธีดูแลผิวขณะตั้งครรภ์
ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่อาจมีปัญหาผิวพรรณที่ต้องเผชิญคือ หน้าท้องแตกลาย เนื่องจากหน้าท้องขยายใหญ่ขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาหน้าท้องแตกลายคุณควรดูแลน้ำหนักตัวให้ขึ้นตามเกณฑ์ รวมทั้งใส่ใจดูแลผิวพรรณด้วยการทาโลชั่นบำรุงให้ผิวเกิดความยืดหยุ่น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือทาแป้ง ซึ่งจะยิ่งทำให้ผิวแห้ง

2.วิธีดูแลอาการท้องผูก
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว อาการท้องผูกถือว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากเมื่อร่าางกายเปลี่ยนแปลง หน้าท้องขยายใหญ่ขึ้น ก็จะทำให้มดลูกไปเบียดเนื้อที่ของกระเพราะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ไม่เต็มที่ คุณแม่จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดคือ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เครื่องดื่มธัญพืชที่อุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ที่สำคัญที่สุดอย่าลืมดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติได้แล้ว

3.วิธีดูแลจิตใจให้สดใสร่าเริงอยู่เสมอ
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า หากคุณแม่เครียด ลูกน้อยในครรภ์ก็จะเครียดด้วย เพราะเมื่อคุณแม่โกรธหรือฉุนเฉียว ร่างกายจะมีการหลั่งสารอะดรีนาลิน ทำให้กล้ามเนื้อร่างกายทุกส่วนเกร็งตัว เกิดความตึงเครียดส่งผลไปถึงเจ้าตัวเล็กในครรภ์ ดังนั้น อาจแก้ไขโดยลองหาเวลาอยู่เงียบๆคนเดียวบ้าง เพื่อให้คุณแม่เกิดความผ่อนคลายและรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง อาจไหว้พระสวดมนต์ หาหนังสือที่ชอบมาอ่าน หรือฟังเพลงโปรดให้จิตใจเย็นลง พร้อมกับเพิ่มความผ่อนคลายด้วยสีสันสวยๆของต้นไม้ใบหญ้านำมาตกแต่งห้อง รวมทั้งใช้กลิ่นจากน้ำมันหอมระเหยช่วยในการบำบัด หลีกเลี่ยงกลิ่นและการออกฤทธิ์ที่ค่อนข้างเข้มข้น ก็จะช่วยให้คุณแม่มีอารมณ์คงที่ มีความสุขขึ้น และไม่ฉุนเฉียวง่าย

4.วิธีแก้ไขอาการเมื่อยหลัง
ขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้คุณแม่มีอาหารปวดหลังและปวดขา ซึ่งมีวิธีแก้ไขให้คลายลงได้ โดยการออกกำลังกายในน้ำ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง พยายามยืนให้หลังตรงอยู่เสมอ ลุกจากที่นอนให้ถูกต้อง โดยเริ่มจากท่านอนตะแคงข้าง และค่อยๆใช้มือยันตัวลุกขึ้นเป็นท่านั่ง จากนั้นจึงค่อยๆลุกขึ้นยืน นอกจากนี้ยังควรสวมรองเท้าส้นเตี้ยและใส่สบาย เพื่อช่วยป้องกันอาการปวดหลัง และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการใส่รองเท้ามีส้น

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องรับมือนั้นมีมากมาย แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการดูแลใส่ใจสุขภาพให้สดใสแข็งแรงเพื่อตัวคุณแม่เองและเจ้าตัวเล็กที่กำลังจะลืมตาดูโลก อีกทั้งยังควรมองโลกในแง่ดี ให้เวลากับการดูแลตัวเองในการเลือกสรรเสื้อผ้า ตัดผมเปลี่ยนลุค เพื่อสร้างสีสัน ลองออกไปแลกเปลี่ยนพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆที่เป็นคุณแม่มือใหม่เช่นกัน ด้วยวิธีการต่างๆนี้เชื่อว่าจะทำให้คุณตั้งครรภ์ได้อย่างมีความสุขขึ้นไม่น้อยทีเดียว