Sort by
Sort by

เมื่อลูกน้อยติดหนึบคุณแม่

เมื่อลูกน้อยติดหนึบคุณแม่
พฤติกรรมความผูกพัน หรืออาการติดหนึบจนไม่ยอมที่จะให้คุณแม่คลาดสายตา คือสิ่งที่เด็กวัยหัดเดินพยายามต้องการที่จะได้รับความสะดวกสบาย การปกป้องดูแลจากคนที่รู้สึกผูกพันหรือใกล้ชิดอยู่ด้วย ซึ่งสิ่งนี้เด็กจะแสดงออกโดยการยิ้ม อ้อแอ้ คลานตาม เกาะแขน ร้องไห้ และสัญญาณอื่น ๆ อีกมากมายที่จะเป็นสัญญาณสื่อให้คุณแม่เรียนรู้ที่จะรู้ว่าต้องดูแลพวกเขา นั่นเป็นเพราะว่าเด็กในวัยนี้ยังรู้สึกไม่มั่นคง ไม่มั่นใจ กลัวการอยู่ห่างจากคนหรือของที่ตนเองรัก อาการติดแม่จึงเป็นคล้ายๆ สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่เจ้าตัวน้อยรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นเมื่อคุณแม่อยู่ด้วย

วิธีแก้ลูกติดหนึบ
  • ให้ลูกได้เล่นกิจกรรมที่ต้องเล่นคนเดียวบ้าง เช่น ระบายสี วาดรูป ต่อบล็อก โดยแรกๆ คุณแม่ก็นั่งดูใกล้ๆ แล้วค่อยขยับออกไปเฝ้าดูห่างๆ สัก 5-10 นาที แล้วกลับเข้ามาอยู่ใกล้ๆ ใหม่
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้อยู่กับคนอื่นบ้าง ให้คุณพ่อ ย่า ยาย หรือคนในบ้านได้ดูแลลูกแทนคุณ
  • รู้จักที่ใหม่ คนใหม่ๆ มีโอกาสเมื่อไหร่พาลูกออกไปเที่ยวข้างนอกบ้าง จะเป็นบ้านญาติ บ้านเพื่อน สนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน สถานที่ท่องเที่ยวหรือแม้แต่ตลาด ธนาคาร ร้านค้าที่คุณไปทำธุระ โดยเฉพาะที่ที่มีเด็กๆ ให้ลูกได้พบปะผู้คน ก็จะช่วยลูกเรียนรู้ที่จะปรับตัวกับผู้คนและสถานที่ใหม่ๆ ได้
  • ต้องบอกลูกให้ชัดล่วงหน้าว่าคุณจะไปไหน ทำอะไร กลับเมื่อไหร่ ระหว่างนี้ใครจะดูแล
  • ควรบอกเหตุผลลูกทุกครั้งที่จะแยกจาก ไม่ควรแอบหนีไปในขณะที่แกเผลอ
  • ในช่วงแรกๆ ควรใช้ระยะเวลาในการแยกจากไม่นานเมื่อลูกอยู่กับผู้ดูแลคนอื่น เพื่อลูกจะมั่นใจได้ว่า เมื่อแม่ไปแล้ว แม่ก็กลับมาหาจริงๆ แล้วค่อยเพิ่มเวลาระยะห่างมากขึ้น
  • เมื่อมีเวลาควรอยู่ใกล้ชิดและสัมผัส โอบกอด เล่นกับลูก ทำกิจกรรมร่วมกันให้มากที่สุด เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่สูญเสียไป
และเพื่อให้ลูกน้อยออกสู่โลกกว้างและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ไม่มีสะดุด อย่าลืมดูแลให้ลูกมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงด้วยการเลือกนมที่มีบิฟิดัสหรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์

ห้ามทำเด็ดขาด
  • หนีลูกไปเฉยๆ โดยไม่บอกกล่าว จะทำให้ลูกกลัว และยิ่งติดคุณมากยิ่งขึ้น
  • ผลักไส ตำหนิ หรือแสดงอาการหงุดหงิดรำคาญ เมื่อลูกเข้ามาเกาะแข้งเกาะขาไม่ยอมแยกห่างจากคุณ
  • ไม่กลับตามเวลาที่บอกลูกไว้หรือให้คนอื่นไปรับแทน
  • ขู่ว่าไม่รักหรือจะทิ้งลูก ถ้าร้องไห้ หรือไม่เชื่อฟัง
พยายามทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุดลูกก็จะค่อยๆ พัฒนาความรู้สึกมั่นคงและกล้าไปเผชิญโลกกว้างด้วยตัวเองมากขึ้น และติดคุณแม่น้อยลงนั่นเองค่ะ