Sort by
Sort by

รักษ์โลกได้ง่าย ๆ แค่รีไซเคิลผลิตภัณฑ์ขวดพลาสติก PET

รักษ์โลกได้ง่าย ๆ แค่รีไซเคิลขวดพลาสติก PET

หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่าขวดน้ำพลาสติกเพต (PET หรือ PETE: polyethylene Terephthalate) ที่ใช้สัญลักษณ์รีไซเคิล (recycle) หมายเลข 1 เป็นพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% และเป็นสามารถขายได้ราคาดีที่สุด นั่นเพราะคุณสมบัติพลาสติก PET มีน้ำหนักโมเลกุลสูงจึงมีความเหนียวสูง มีความใสแวววาวเป็นพิเศษ มีความปลอดภัยสูง แข็งแรงทนทาน ไม่เปราะแตกง่าย ทนต่อความเป็นกรดและป้องกันการซึมผ่านของก๊าซจึงเหมาะกับการบรรจุผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหรือของเหลวต่าง ๆ แต่หากขวดพลาสติกเหล่านี้กลายเป็นขยะจะต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 450 ปี

วันนี้เราจึงขอพาทุกคนมาดูประโยชน์ของการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET และมีผลิตภัณฑ์จากการรีไซเคิลขวดพลาสติกสามารถทำแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง? พร้อมแนวทางง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้เพื่อช่วยดูแลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโลกของเรา

รีไซเคิลขวด PET ใช้ใหม่ได้ กอบกู้วิกฤตขยะ

ขวดน้ำพลาสติกเพต

ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET ดีต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรโลกอย่างไรบ้าง?

  • ขวดพลาสติก PET สามารถนำไปรีไซเคิลได้สูงสุดถึง 10 ครั้ง ช่วยลดปัญหาขยะจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic)
  • การรีไซเคิลขวดพลาสติก 1 ตัน ช่วยประหยัดน้ำมันดิบได้มากถึง 3.8 บาร์เรล (ประมาณ 604 ลิตร)
  • การรีไซเคิลขวดพลาสติก 1 ตัน ช่วยประหยัดพื้นที่ในการฝังกลบลบขยะได้มากถึง 5.7 ลูกบาศก์เมตร
  • การรีไซเคิลขวดพลาสติก ช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศจากการเผาขยะ ลดมลพิษในดินจากสารเคมีที่ซึมในหลุมฝังกลบ รวมถึงลดโอกาสที่ไมโครพลาสติกปนเปื้อนไปในแหล่งน้ำ

ดังนั้นกระบวนการรีไซเคิล PET ช่วยชะลอการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่จะถูกนำมาใช้ และยังลดพลังงานและสามารถลดคาร์บอนฟุตปริ้นต์หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาในกระบวนการผลิตพลาสติกใหม่ ซึ่งการนำพลาสติก PET กลับมารีไซเคิล ผ่านขั้นตอนบดอัดให้เป็นเกล็ด กําจัดเชื้อโรค และหลอมใหม่กลายเป็นเม็ดพลาสติกหรือฉีกเป็นเส้นใย โดยวัสดุแปรรูปจากพลาสติกชนิด PET ที่ใช้แล้ว เรียกว่า rPET (recycled polyethylene terephthalate) สามารถนำมาแปรรูปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกต่อได้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากขวดรีไซเคิล เช่น

1. ใยสังเคราะห์ เส้นใยโพลิเอสเตอร์ (Polyester) rPET จากขวดรีไซเคิล ที่ถูกหลอมใหม่กลายเป็นเม็ดพลาสติกแล้ว สามารถนำมาฉีกเป็นเส้นใยโพลิเอสเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอต่าง ๆ เช่น ใยสังเคราะห์ในหมอน เบาะ โซฟา ตุ๊กตา หรือทอเป็นพรม เป็นต้น โดยเส้นใยสังเคราะห์น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ผลิตจากขวดน้ำ PET จำนวน 60 ขวด

2. เสื้อผ้า เส้นใยโพลิเอสเตอร์จาก rPET ที่มีน้ำหนักเบา แห้งไว มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ยับง่าย และสามารถช่วยป้องกันแสง UV ได้ จึงนิยมนำมาผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มแทนผ้า หรือนำเส้นใย rPET ไปผสมกับเส้นใยผ้าชนิดอื่น เช่น เรยอน ไหม ฝ้าย ลินิน เป็นต้น เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน เนสท์เล่สนับสนุนการรีไซเคิลและการใช้ผลิตภัณฑ์ upcycling เสื้อพนักงานในโครงการต่าง ๆ ของเนสท์เล่ ผลิตจากเส้นใยขวดน้ำดื่ม PET หลากหลายรูปแบบ เช่น

  • เสื้อโปโล ผลิตจากขวดน้ำ PET จำนวน 5 ขวด / 1 ตัว (ใช้ปริมาณเส้นใยโพลิเมอร์ rPET 35%)
  • เสื้อเชิ้ตแขนยาว ผลิตจากขวดน้ำ PET จำนวน 16 ขวด / 1 ตัว (ใช้ปริมาณเส้นใยโพลิเอสเตอร์ rPET 65%)
  • เสื้อคอกลมแขนสั้น สำหรับโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ ผลิตจากขวดน้ำ PET จำนวน 20 ขวด / 1 ตัว (ใช้ปริมาณเส้นใยโพลิเอสเตอร์ rPET 100%) นอกจากนี้ในโครงการยังผลิต หมวกแก้ป ที่ผลิตจากขวดน้ำ PET จำนวน 5 ขวด / 1 ใบ และ กระเป๋าผ้า จากขวดน้ำ PET จำนวน 10 ขวด / 1 ใบ อีกด้วย
เสื้อพนักงานในโครงการต่าง ๆ ของเนสท์เล่ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล
3. รองเท้าผ้าใบ ผลิตจากเส้นใยโพลิเอสเตอร์ rPET จากขวดรีไซเคิลทุกชิ้นส่วน โดยเฉพาะพื้นรองเท้าที่มีน้ำหนักเบา ช่วยรับแรงกระแทกได้ดี โดยขวดน้ำ PET จำนวน 30 ขวด สามารผลิตเป็นรองเท้าผ้าใบได้ 1 คู่

4. กระเป๋าเป้หรือถุงผ้า เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์จากขวดรีไซเคิล PET ที่เป็นที่นิยม เพราะเส้นใยโพลิเอสเตอร์มีความเหนียว น้ำหนักเบา ทำให้กระเป๋าที่ได้มีลักษณะหนา แข็งแรงทนทาน สามารถใส่ของหนักได้ โดยทั่วไปขวดน้ำ PET จำนวน 11 ขวด สามารถผลิตเป็นกระเป๋าเป้ได้ 1 ใบ และขวดน้ำ PET จำนวน 4 ขวด สามารผลิตเป็นถุงผ้าได้ 1 ใบ
 ชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE จากขวด PET รีไซเคิล
5. ชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE (Personal Protective Equipment) สำหรับคุณหมอและบุคคลากรทางการแพทย์ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและสารเคมีต่าง ๆ โดยชุด PPE ผลิตจากเส้นใยโพลิเอสเตอร์ rPET จากขวดรีไซเคิล จำนวน 18 ขวด / 1 ชุด และสามารถซักใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง

เมื่อรู้ว่าพลาสติกสามารถนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่าแบบนี้แล้ว คุณเองก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมและช่วยรักษาโลกใบนี้ได้ง่าย ๆ ด้วยการลงมือทำสิ่งเล็กน้อยที่คุณสามารถพอทำได้

4 วิธีง่าย ๆ แค่คุณลงมือทำ ช่วยเปลี่ยนโลกได้

1. เลือกบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET ที่ใสไม่มีสี
ถึงแม้ว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะยังคงอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค แต่เราสามารถช่วยรักษ์โลกได้โดยเลือกพลาสติกชนิดที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกน้อยลง ใสและไม่มีสี เพราะพลาสติกที่มีสีเจือ เมื่อถูกนำไปหลอมละลายจะไม่สามารถเอาสีออกจากเนื้อพลาสติกได้ ต่างจากพลาสติกใสเมื่อผ่านการรีไซเคิลจะไม่ขุ่นมัว มีลักษณะใส ดังนั้นขวดน้ำหรือพลาสติกรีไซเคิล ที่เป็นประเภท PET แบบใส จึงจัดเป็นพลาสติกประเภทที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลได้มากที่สุด ได้รับยอมรับจากโรงงานรีไซเคิลทำให้มีราคาดีกว่าขวดน้ำที่ผสมสีในเนื้อพลาสติก

2. Reuse ก่อนทิ้งเป็นขยะ
ลองคิดสร้างสรรค์นำขวดน้ำพลาสติกที่ยังใช้ประโยชน์ได้กลับมาใช้ซ้ำ (reuse) ให้คุ้มค่าที่สุดก่อนทิ้งขวดพลาสติกเป็นขยะ เช่น นำมาประดิษฐ์เป็นที่ใส่เครื่องเขียน ประดิษฐ์เป็นกระถางต้นไม้ ตัดก้นขวดทำเป็นที่รองขาตู้ เป็นต้น ซึ่งเท่ากับการใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังเป็นกิจกรรมที่สามารถชวนทุกคนในบ้านมาช่วยออกไอเดียและลงมือทำด้วยกันได้ ช่วยเพิ่มช่วงเวลาอยู่พร้อมหน้าและสานสัมพันธ์ในครอบครัวได้อีกด้วย
3. ทิ้งขวดพลาสติก PET ลงถังรีไซเคิล
การแยกทิ้งขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ลงสู่ถังรีไซเคิล ไม่ให้ปะปนกับขยะอื่น ๆ สามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้จัดเก็บขยะ และเพิ่มโอกาสที่พลาสติก PET จะถูกส่งไปจัดการเข้าสู่กระวนการรีไซเคิลได้อย่างถูกต้อง กลับมามีประโยชน์ได้อีกอย่างคุ้มค่า แต่หากทิ้งผิดถังขยะเหล่านั้นจะถูกกำจัดโดยการฝังกลบหรือเผาทิ้ง ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสการปนเปื้อนไมโครพลาสติกไปสู่พื้นดินหรือแหล่งน้ำได้ ลองเริ่มให้ความสำคัญกับการแยกทิ้งขยะรีไซเคิล เพียงแค่สังเกตสัญลักษณ์ขยะรีไซเคิลที่มีลักษณะลูกศรวน ถังสีเหลือง และก่อนทิ้ง ให้เทน้ำหรือของเหลวออกให้หมดขวด ใช้มือบิดหรือบีบเล็กมีขนาดเล็กเพื่อประหยัดพื้นที่ในถังขยะ แต่หากมีสิ่งสกปรกควรล้างทำความสะอาดและตากให้แห้งเสียก่อน
ทิ้งขวดพลาสติก PET ลงถังรีไซเคิล
4. ส่งตรงสู่จุดรับรีไซเคิล
เป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยส่งขยะเข้าสู่กระบวนการแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยทำความสะอาดขวดน้ำ PET ให้เรียบร้อยและมีลักษณะแห้ง พร้อมส่งผ่านลุงซาเล้งละแวกบ้าน ส่งไปยังสถานที่รับขยะโดยตรง หรือส่งไปยังจุดรับบริจาคต่าง ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ว่าขวดรีไซเคิลที่รวบรวมไว้จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และได้ใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน ตัวอย่างโครงการที่รับรีไซเคิลขวดพลาสติก PET เช่น
  • รถซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่า เมื่อเก็บแยกและเก็บรวมรวมขยะไว้เรียบร้อยแล้ว สามารถนำไปขายต่อให้รถซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่าที่มีในละแวกบ้าน ซึ่งเป็นเหมือนพ่อค้าคนกลางที่จะนำขยะเหล่านี้ส่งเข้าสู่โรงงานรีไซเคิลต่อไป โดยทั่วไปขวดน้ำพลาสติก PET ใส ไม่มีสี สามารถขายต่อได้กิโลกรัมละ 3 – 8 บาท (ราคาเปลี่ยนแปลงตามราคากลางของตลาด) ได้ทั้งช่วยลดปริมาณขยะและช่วยให้ได้รายได้เล็กน้อยไปในตัว
  • โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) โครงการนี้รับรีไซเคิลขวดพลาสติกประเภท PET และพลาสติกทุกชนิด เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและเส้นใยพลาสติก ผลิตเป็นเสื้อผ้า ชุด PPE ถุงพลาสติกสำหรับช้อปปิ้ง จีวร เป็นต้น
  • โครงการ Precious Plastic Bangkok โครงการนี้รับรีไซเคิลขวดพลาสติกประเภท PET ฝาขวดน้ำ กล่องพลาสติกใส่อาหาร เพื่อรีไซเคิลเป็น กระถาง แจกัน เสื้อ ผ้าห่ม ฯลฯ
  • วัดจากแดง จ.สมุทรปราการ โครงการนี้รับรีไซเคิลขวดพลาสติกประเภท PET และฝาขวดน้ำ เพื่อรีไซเคิลผสมกับเส้นใยฝ้ายผลิตเป็นเป็นจีวรพระ โดยสามารถส่งขวดรีไซเคิล ไปที่ วัดจากแดง ซอยวัดจากแดง ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10131 โทร. 02 464 1122


หากคุณลงมือทำตามแนวทางที่เรานำมาฝากได้ครบทั้ง 4 ข้อ ก็เท่ากับคุณมีส่วนร่วมในการจัดการขวดพลาสติก PET ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เพื่อโลกของเราได้ตั้งแต่การเลือกใช้อย่างคุ้มค่า สู่การคืนชีพขวดพลาสติก PET กลับมาให้เกิดประโยชน์ใหม่ได้ง่าย ๆ หากใครมีคำถามว่าพลาสติกชนิดอื่น ๆ ต้องคัดแยกและจัดการอย่างไรดี? สามารถไปดูประเภทพพลาสติกและแนวทางจัดการขยะพลาสติกในครัวเรือนกันได้ที่ คลิก

ปี2025


เพียงเราทุกคนใส่ใจและลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกนี้ได้ เช่นเดียวกับความพยายามของเนสท์เล่ที่ต้องการให้ทุกขั้นตอนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด ขวดน้ำดื่มของเนสท์เล่เพียวไลฟ์และมิเนเร่ จึงผ่านกระบวนการดึงเม็ดสีออกจากเนื้อพลาสติกให้มีลักษณะใส ไม่มีสี เพื่อเพิ่มโอกาสและง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลขวดพลาสติก รวมถึงได้ถูกออกแบบรูปทรงใหม่ เพื่อลดปริมาณการใช้เนื้อพลาสติกให้น้อยลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องอาศัยพลังของพวกเราทุกคน เลือกใช้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้และช่วยกันแยกทิ้งลงสู่ถังรีไซเคิลให้ถูกต้อง เพื่อดูแลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโลกของเรา

การดำเนินการทั้งหมดนี้เป็นไปตามเป้าหมายของเนสท์เล่ทั่วโลก ในการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้รีไซเคิลได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 พร้อมเดินหน้าสู่การสร้างสรรค์สังคมปราศจากขยะอย่างยั่งยืน ส่งต่อทรัพยากรแก่คนรุ่นถัดไป

ข้อมูลอ้างอิง
1. huffingtonpost.co.uk
2. sciencing.com
3. revolvegreen.com
4. อินโดรามา เวนเจอร์ส
5. องค์การเภสัชกรรม
6. yankodesign.com
7. สมาคมรีไซเคิลขยะและรับซื้อของเก่า

ซื้อผลิตภัณฑ์เนสท์เล่ :

You may also like