Sort by
Sort by

เคล็ดลับรักษาคุณภาพวัตถุดิบให้สดใหม่

การเก็บรักษาอาหาร
เมิ่อซื้ออาหารสดหรือวัตถุดิบทำอาหารมาแล้ว เราควรล้างทำความสะอาดและจัดเก็บให้ถูกวิธี เพื่อรักษาคุณค่าทางโภชนาการและคงความสด ยืดอายุเพื่อให้เหมาะสมกับการทำไปทำอาหารต่าง ๆ วันนี้จึงขอเสนอแนวทางการเก็บรักษาวัตถุดิบ ที่เด็ก ๆ สามารถช่วยคุณพ่อคุณแม่หรือร่วมทำไปด้วยได้ไม่ยาก การเก็บรักษาอาหารชนิดต่าง ๆ อย่างเหมาะสม จะช่วยคงคุณค่าทางโภชนาการให้สดใหม่เหมือนเพิ่งซื้อมา ยืดอายุให้เก็บได้นานขึ้น สามารถนำวัตถุดิบไปสร้างสรรค์มื้อที่อุดมด้วยประโยชน์อย่างเต็มที่ ดังนี้

วิธีเก็บรักษาผักให้สดใหม่

ก่อนลงมือเก็บผักใส่ตู้เย็นเพียงแบ่งหน้าที่ให้เด็ก ๆ ช่วยทำไปพร้อมกัน เช่น ล้างผัก, ห่อผัก หรือนำผักแช่ในตู้เย็น ช่วยสร้างบรรยากาศเข้าครัวให้สนุกและมีความอยากทานผักที่เขามีส่วนร่วมช่วยจัดการ โดยขั้นตอนแรกสำหรับการรักษาความสดใหม่ของผักคือควรแยกประเภทผักก่อน เพื่อการจัดการและจัดเก็บอย่างเป็นสัดส่วนเหมาะกับผักแต่ละประเภท

• ผักใบ เช่น ผักบุ้ง, ผักกาด, คะน้า, กวางตุ้ง
1. ล้างและตัดแต่งส่วนที่ไม่ต้องการออก เช่น ตัดใบแก่, ตัดราก, เด็ดใบที่เน่าเสียทิ้ง เป็นต้น ควรล้างผักทั้งใบหรือต้นให้สะอาดก่อนนำไปตัดหรือหั่นชิ้นเพื่อรักษาวิตามินแร่ธาตุในผัก ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
2. ให้เด็ก ๆ ช่วยซับบนใบผักให้แห้ง ไม่ควรเก็บใส่ตู้เย็นขณะที่ผักยังเปียกอยู่เด็ดขาด เพราะน้ำเป็นตัวเร่งให้ใบผักเน่าเสียไวขึ้น
3. ห่อด้วยกระดาษ แล้วใส่ถุงซิปล็อกหรือกล่องที่มีฝาปิด เพื่อช่วยรักษาความชื้นผักไม่เปื่อยจนเละเกินไป
4. แช่ในช่องผัก ซึ่งจะช่วยคงความสดใหม่ได้นานขึ้น
• ผักชี, ผักกาดหอม, พริก ล้างน้ำให้สะอาด แล้วซับน้ำที่ใบให้แห้งแล้วห่อกระดาษ ใส่ถุงซิปล็อค นำเข้าตู้เย็น

 

วิธีเก็บรักษาไข่ไก่สด

1. ชวนเด็ก ๆ มาช่วยกันใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดอย่างเบามือ ไม่ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเพราะจะทำให้ไข่เสียง่าย
2. มอบหมายให้เด็ก ๆ เก็บไข่ในตู้เย็นด้วยตัวเอง ลองฝึกให้เขาสังเกต โดยให้วางด้านแหลมลง ให้ด้านป้านอยู่บน วิธีนี้จะทำให้ไข่แดงลอยอยู่กลางฟอง เวลาตอกไข่แดงจะไม่แตกง่าย
3. จัดเรียงแยกไข่เก่า – ใหม่ ไม่ให้ปะปนกัน และเลือกหยิบไข่เก่ามาใช้ก่อน

Egg
อาหารแห้ง

วิธีเก็บรักษาอาหารแห้ง

• วัตถุดิบที่เป็นของแห้ง เช่น ซีเรียล, เส้นพาสตา ฯลฯ อาหารเหล่านี้เป็นของแห้งที่ต้องรักษาคุณภาพ คุณพ่อคุณแม่ลองให้เด็ก ๆ ช่วยจัดเก็บหรือเทใส่กล่องหรือภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดสนิทเพื่อป้องกันอากาศและความชื้นเข้าไป ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อรา หรือมด แมลงกัดแทะ
• อาหารแห้ง หรือ เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น กุนเชียง, ปลาแห้ง, ปลาเค็ม ฯลฯ สามารถเก็บในอุณหภูมิปกติที่อากาศถ่ายเท หรือนำใส่กล่องหรือห่อด้วยพลาสติกให้มิดชิดแล้วแช่ในช่องแข็งเป็นวิธีที่ช่วยให้เก็บได้นานขึ้น
• ธัญพืชอบแห้ง เช่น อัลมอนด์, ถั่ว, งา ฯลฯ ชวนเด็ก ๆ มาช่วยเทใส่กล่องหรือขวดที่มีฝาปิดสนิทแยกกันไว้ จัดเก็บในที่แห้ง อุณหภูมิปกติ เพื่อป้องกันความชื้นที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นหืนและเชื้อรา

แม้อาหารแห้งจะสามารถเก็บได้นาน แต่ก็ต้องหมั่นสังเกตวันหมดอายุ เพราะบางครั้งเราอาจกินไม่ทันหรือหลงลืมทิ้งไว้จนมีกลิ่นอับ กลิ่นหืน หรือขึ้นรา จึงควรเขียนวันที่ซื้อมาและวันหมดอายุแปะไว้ที่ภาชนะหรือห่อให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยชวนเด็ก ๆ มามีส่วนร่วม รับรองเลยว่าจะช่วยเพิ่มความสนุกภายในครัวได้

วิธีเก็บรักษาเนื้อสัตว์

มาสอนเด็ก ๆ ให้คุ้นเคยกับเนื้อสัตว์ประเภทและส่วนต่าง ๆ เรียนรู้จักวิธีคงคุณค่าทางโภชนาการ ด้วยการมอบหมายหน้าที่ให้เขาได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในขั้นตอนเก็บรักษาการ เช่น ลองช่วยหยิบจับ, หั่น, ล้าง หรือห่อ เป็นต้น
1. นำเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู, เนื้อไก่ ฯลฯ มาล้างให้ความสะอาด ตัดแต่งเนื้อให้เป็นชิ้น ๆ ขนาดพอดีต่อการทำอาหารในแต่ละครั้ง พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
2. ใช้กระดาษเอนกประสงค์ซับน้ำให้แห้งแล้วเก็บใส่กล่องที่มีฝาปิดหรือถุงซิปล็อก แล้วนำไปแช่ในช่องแช่แข็งซึ่งช่วยยืดอายุการเก็บเนื้อสดได้นานยิ่งขึ้น เด็ก ๆ ช่วยเขียนวันที่ซื้อติดไว้เพื่อเตือนความจำและตรวจสอบวัตถุดิบในตู้เย็น

เนื้อสัตว์
อาหารทะเล

วิธีเก็บรักษาอาหารทะเลสด

อาหารทะเลถือเป็นวัตถุดิบที่เสียง่ายกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ คุณแม่บ้านพ่อบ้านควรวางแผนการซื้อในปริมาณที่เหมาะสมและจัดสรรเมนูให้ดี หากต้องการคงความสดใหม่และเก็บให้นานขึ้นเรามีขั้นตอนมาฝากกัน
1. ล้างทำความสะอาด ตัดแต่งส่วนที่กินไม่ได้ทิ้งก่อนเก็บ
• กุ้ง ให้ตัดหนวด แกะเปลือก เก็บหาง ผ่าหลังและดึงเส้นดำออกให้หมด
• หมึก ให้ตัดปาก ตา ถุงหมึก ควักไส้และลอกหนัง จากนั้นทำความสะอาด ล้างด้วยเกลือ เพื่อขจัดเมือกลื่น ๆ แล้วล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง พักให้สะเด็ดน้ำ
2. ซับน้ำให้แห้ง ด้วยกระดาษอเนกประสงค์
3. ใส่ถุงซิปล็อกหรือภาชนะที่มีฝาปิดสนิท นำไปแช่ในช่องเนื้อสัตว์หรือช่องแช่แข็ง อาจแบ่งเก็บตามปริมาณการใช้ต่อครั้งเพื่อให้สะดวกต่อการนำมาประกอบอาหารเฉพาะส่วน อย่าลืมควรเขียนวันที่ซื้อติดไว้เพื่อเตือนความจำ

วิธีเก็บรักษาผลไม้สด

ชวนเด็ก ๆ มามีส่วนร่วมไปกับคุณพ่อคุณแม่ สอนให้เขาเรียนรู้วิธีคงคุณค่าและเก็บรักษาผลไม้ได้นาน เริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วลองให้เด็ก ๆ เป็นลูกมืออาจเริ่มจากผลไม้ที่เขาชอบ โดยเรามีวิธีช่วยเก็บรักษาผลไม้มาฝาก ดังนี้
• ควรแยกผลไม้ที่สุกแล้วอออกจากผลไม้ที่ยังดิบอยู่ เพราะผลไม้สุกจะปล่อยก๊าซออกมา ทำให้ผลไม้อื่นสุกเร็วตาม
• ไม่ควรเก็บผักและผลไม้ในถุงหรือกล่องเดียวกัน เพราะจะทำให้ผักเหี่ยวเร็วขึ้นและผลไม้ที่มีน้ำหนักมากอาจทับจนผักช้ำได้
• ผลไม้ที่ยังดิบอยู่ สามารถเก็บไว้ในพื้นที่อุณหภูมิปกติโดยใส่ถุงกระดาษที่เจาะรู อากาศที่ไหลเวียนจะช่วยคงความสดได้ดียิ่งขึ้น
• องุ่น กล้วย มะม่วง เบอร์รี่ต่างๆ สามารถห่อด้วยกระดาษแล้วใส่ถุงซิปล็อก จะช่วยรักษาความชื้นของผลไม้ และคงความสดให้นานขึ้น
• กล้วย ใช้พลาสติกแรพหรือกระดาษห่อที่ขั้วไว้ ช่วยชะลอให้กล้วยค่อย ๆ สุกช้าลงได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะกินไม่ทัน

สนุกกับขั้นตอนการเก็บรักษาอาหารกันแล้ว ลองชวนทุกคนในบ้านรวมถึงเด็ก ๆ มาเข้าครัวประชันเมนูอร่อยที่บ้าน คลิก หรือฝึกทำเมนูอาหารว่างง่าย ๆ คลิก แต่ทุกครั้งก่อนนำวัตถุดิบมาประกอบอาหารคุณแม่บ้านพ่อบ้านควรหมั่นสังเกตสภาพอาหาร ลองดมกลิ่นและชิมดูก่อนเพื่อความมั่นใจว่าวัตถุดิบนั้น ๆ ยังกินได้อยู่ ไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อนหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งวิธีเก็บและถนอม อ.อาหาร ที่เรานำมาฝากทั้งหมดนี้ช่วยให้เรามีวัตถุดิบสดใหม่ เสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีในบ้านตามหลัก 3อ. และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวสามารถร่วมมือช่วยกันได้ ให้เด็ก ๆ ได้เคลื่อนไหว ขยับตัว ถือเป็นการ อ.ออกกำลังกาย อย่างทางหนึ่ง รวมไปถึงคุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมสร้างสุขภาพที่ดีเพื่อเจ้าตัวน้อยด้วย 10 เทคนิคดูแลโภชนาการสำหรับลูกรักวัยกำลังโต คลิก และใช้โอกาสนี้ในการอธิบายเรื่องโภชนาการอาหารที่เหมาะสม ทำความรู้จักและคุ้นเคยกับวัตถุที่หลากหลาย สอดแทรกการเล่าคุณประโยชน์เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการกิน ให้เด็ก ๆ เจริญอาหารกินข้าวได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อภาวะ อ.อารมณ์ ที่สดใส พร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดวัน

#เนสท์เล่คนไทยแข็งแรง
อ้างอิง: Nestle for Healthier Kids Thailand
แปล เรียบเรียง และทำภาพประกอบโดย: Nestle for Healthier Kids Thailand

You may also like