Sort by
Sort by

วิทยาศาสตร์ของการลดน้ำหนัก

วิวัฒนาการของวิทยาศาสตร์ในการลดน้ำหนัก
research ampk weight loss science
โดย Laura Camurri, PhD. สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพเนสท์เล่

ทุกคนคงเคยได้ยินคำแนะนำในการลดน้ำหนักมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารให้เหมาะสมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ แต่งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ล่าสุดพบตัวแปรใหม่ๆ นั่นก็คือ กิจกรรมของเซลล์ภายในร่างกายของคุณมีผลต่อการลดน้ำหนักของคุณ หรือมีผลต่อการตอบสนองของร่างกายต่ออาหารบางประเภท

ที่สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพของเนสท์เล่ ทีมวิจัยของเรากำลังศึกษาการลดน้ำหนักในระดับโมเลกุล ว่าร่างกายของคุณมีการเผาผลาญอาหารอย่างไร เหตุใดบางคนจึงลดน้ำหนักได้ง่ายกว่าคนอื่น เหตุใดบางคนจึงสามารถลดน้ำหนักได้ แต่บางคนไม่สามารถลดได้ เพราะเหตุใดการลดน้ำหนักจึงช่วยป้องกันโรคเบาหวานในบางคน แต่ไม่มีผลในคนอื่นๆ

เหตุใดบางคนจึงลดน้ำหนักได้ง่ายกว่าคนอื่น

คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่สำคัญในการก้าวไปสู่การจัดการทางด้านโภชนาการและสุขภาพเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล การทำความเข้าใจในความแตกต่างระดับโมเลกุลของบุคคลแต่ละคน ช่วยให้วงการแพทย์มีทางออกซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้วิธีแบบครอบจักรวาล

เราได้มีการลงทุนในการศึกษาวิจัยเพื่อช่วยให้ทุกคนมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับระบบเผาผลาญพลังงานและโภชนาการที่จำเป็นซึ่งแตกต่างกันในแต่ละคน โดยหวังว่าเราจะค้นพบวิธีที่เหมาะสำหรับแต่ละคน ข้อมูลใหม่ๆ สามประการที่เราได้เรียนรู้จากงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ล่าสุดของเรามีดังนี้:

เครื่องจักรเล็กๆ ที่มากด้วยความสามารถ

เซลล์ของคุณประกอบไปด้วยไมโตคอนเดรีย ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ช่วยให้พลังงานแก่เซลล์ของคุณ ไมโตคอนเดรียเหล่านี้ทำหน้าที่เปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน ซึ่งแต่ละคนจะมีไมโตคอนเดรียจำนวนไม่เท่ากัน ในคนหนุ่มสาวซึ่งออกกำลังกายเป็นประจำจะมีไมโตคอนเดรียหลายร้อยอันในเซลล์ ขณะที่ผู้สูงวัยหรือผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายจะมีจำนวนไมโตคอนเดรียน้อยกว่ามาก ดังนั้น จึงผลิตพลังงานจากอาหารได้น้อยกว่า

Mitochondria
Mitochondria turn food into energy

เนสท์เล่ได้มีการศึกษาชิ้นหนึ่ง ในเดือนธันวาคม 2016 ร่วมกับมหาวิทยาลัยโลซาน และ École Polytechnique Fédérale de Lausanne ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อศึกษาผลกระทบของการออกกำลังกายต่อเครื่องจักรในเซลล์เหล่านี้ เราพบข้อมูลที่น่าประหลาดใจบางอย่าง นั่นก็คือ การออกกำลังกายนั้นไม่เพียงเพิ่มจำนวนของไมโตคอนเดรียที่อยู่ภายในเซลล์ของคุณ แต่ยังช่วยผลิตโปรตีนที่ทำหน้าที่สร้างพลังงานซึ่งจับตัวกันเป็นกลุ่มก้อนในไมโตคอนเดรีย นั่นหมายความว่า การออกกำลังกายก็คือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการในการแปลงอาหารให้เป็นพลังงาน และทำให้การสร้างพลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

แล้วเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างไร? เมื่อเราพิจารณาการออกแบบโภชนาการเฉพาะบุคคลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีจากการออกกำลังกาย ในตอนนี้เรารู้แล้วว่าการเพิ่มจำนวนของไมโตคอนเดรียเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราต้องช่วยไมโตคอนเดรียให้สามารถผลิตโปรตีนด้วย เหมือนกับการที่เราจัดงานเลี้ยงให้กับไมโตคอนเดรียภายในเซลล์ และเชื้อเชิญแขกมาร่วมสังสรรค์ด้วย!

สวิตช์หลักของระบบเผาผลาญอาหาร

อาจจะฟังดูเป็นเรื่องแปลกถ้าจะบอกว่ามีผลิตภัณฑ์ทั้งด้านโภชนาการจริงๆ ที่สามารถเลียนแบบผลของการออกกำลังกายได้ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่เพ้อฝันแต่อย่างใด

เราได้ทำการวิจัยผลของเอนไซม์ที่ชื่อว่า AMPK ซึ่งเป็นสวิตซ์เปิดปิดระบบเผาผลาญอาหารชนิดหนึ่งที่ช่วยให้กล้ามเนื้อของคุณเปลี่ยนกลูโคสและไขมันให้เป็นพลังงาน AMPK จะส่งสัญญาณเตือนร่างกายของคุณเมื่อคุณต้องการพลังงานมากขึ้น เช่น ขณะที่กำลังออกกำลังกาย ทีมวิจัยของเราได้ค้นพบว่าเราสามารถควบคุม AMPK ได้ ซึ่งหมายความว่าเรามีวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากเอนไซม์ในการนำกลูโคสจากเลือดเข้าสู่กล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มปริมาณไขมันที่เปลี่ยนให้อยู่ในรูปพลังงาน

อย่างไรก็ดี นวัตกรรมนี้ไม่ควรนำไปใช้แทนการออกกำลังกาย แต่สามารถช่วยผู้ที่มีอาการเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน หรือเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งไม่สามารถออกกำลังกายตามปกติได้ หรือผู้ที่พึ่งฟื้นจากการบาดเจ็บซึ่งมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกาย หากเราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งไปเสริมประสิทธิภาพของ AMPK ได้ ก็อาจจะช่วยให้ผู้ที่ออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างเร็วๆ มีระบบเผาผลาญอาหารเช่นเดียวกับการวิ่ง 20 นาทีหรือปั่นจักรยาน 40 นาทีได้ ผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นความหวังอันน่าตื่นเต้นสำหรับผู้ที่ประสบกับภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง

ลายนิ้วมือที่แตกต่างกัน

เบาหวานประเภทที่ 2 เป็นหัวข้อการทำการวิจัยที่มีศักยภาพหัวข้อหนึ่ง สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะใกล้เป็นเบาหวาน (pre-diabetes) และมีน้ำหนักเกิน เชื่อกันว่าการลดน้ำหนักจะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อนี้ไม่เป็นจริงเสมอไป นักวิจัยไม่มีข้อมูลมากเพียงพอที่จะสรุปได้อย่างมั่นใจว่าเหตุใดบางคนซึ่งสามารถลดน้ำหนักได้สำเร็จจึงสามารถป้องกันการเกิดเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ ในขณะที่บางคนก็ยังเกิดโรคเบาหวานได้ทั้งๆ ที่ลดน้ำหนักได้สำเร็จ

Scientists
Nestlé scientists at work

เราได้ทำการวิจัยใหม่ๆ ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเมืองมาสทริชต์และเมืองโคเปนเฮเกน เพื่อหาตัวชี้วัดในเลือด ซึ่งเราสันนิษฐานว่าจะมี "ลายพิมพ์นิ้วมือของลิพิด" ที่สามารถใช้ในการจำแนกผู้ที่อยู่ในภาวะใกล้เป็นเบาหวานซึ่งมีการตอบสนองต่อการลดน้ำหนักร่วมกับการควบคุมน้ำตาลซึ่งสามารถป้องกันการเกิดเบาหวานประเภทที่ 2 ได้

ลายพิมพ์นิ้วมือดังกล่าวเรียกว่า "biomarker" ซึ่งช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์รู้ล่วงหน้าว่าผู้ป่วยรายใดจะตอบสนองหรือไม่ตอบสนองกับการควบคุมน้ำตาลหลังจากลดน้ำหนักได้แล้ว ซึ่งสามารถช่วยให้เลือกแนวทางด้านโภชนาการที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละรายได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ลายพิมพ์นิ้วมือนี้จะเป็นการเปลี่ยนวิธีที่เราใช้ในการวินิจฉัยและรักษาผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน

แล้วทั้งหมดที่กล่าวถึง มันมีประโยชน์อย่างไร

เราค่อยๆ มีความรู้เพิ่มมากขึ้นว่าร่างกายของแต่ละคนมีการทำงานที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าเราจะมีวิธีพื้นฐานในการดูแลสุขภาพของเราอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่รอการค้นพบและปรับปรุงเพื่อให้เหมาะกับแต่ละบุคคลได้ดียิ่งขึ้น

งานวิจัยของเราช่วยให้เรามีความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ทางด้านโภชนาการเฉพาะบุคคลจะเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลสุขภาพของเราได้อย่างไร และการลดน้ำหนักก็เป็นเพียงหนึ่งในจิ๊กซอว์ดังกล่าว