Sort by
Sort by

สอนมารยาทบนโต๊ะอาหาร ตามพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัย

สอนมารยาทบนโต๊ะอาหาร ตามพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัย
เรียนรู้ผ่านการกิน
แน่นอนว่าการได้กินอาหารพร้อมหน้าทั้งครอบครัวเป็นช่วงเวลาพิเศษที่ทุกคนจะใช้ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกถึงความอบอุ่นและสามารถเรียนรู้ผ่านการกินอย่างมีความสุข พร้อมกับได้พัฒนาศักยภาพสมองของเขาอย่างเต็มที่ เราจึงขอชวนคุณพ่อคุณแม่มาใช้เวลาช่วงที่ได้เตรียมอาหารและกินข้าวพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ปูพื้นฐานพฤติกรรมการกินที่ดีพร้อมสอดแทรกการสอนมารยาทในการเข้าสังคม สร้างเสริมนิสัยและค่อย ๆ สะสมพฤติกรรมการกินที่ดีติดตัวเพื่อฝึกฝนให้เขาเข้าใจการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมโดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่คอยบอก ซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถเข้าสังคมได้อย่างกลมกลืนในอนาคต แต่คุณพ่อคุณแม่อาจยังสงสัยว่าจะสอนลูกยังไงดี เราจึงนำเคล็ดลับสอนมารยาทบนโต๊ะอาหารที่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็กแต่ละวัยมาฝากกัน

วิธีสอนมารยาทในการรับประทานอาหารให้กับลูกน้อย

1. เด็กวัยเด็กเล็ก (อายุ 1 – 3 ปี) เด็กวัยนี้มีพัฒนาการการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่าคล่องแคล่วขึ้น สามารถเดิน ยืน เกาะ ได้มั่นคงมากขึ้น ในขณะที่กล้ามเนื้อมัดเล็กกำลังพัฒนา โดยเด็ก ๆ จะใช้กล้ามเนื้อมือสอดคล้องกับการทำงานของสายตาเช่น ต่อก้อนไม้ในแนวตั้ง หรือแนวนอนได้ ถือแก้วน้ำเองได้ หรือถอดเสื้อผ้าเองได้ เป็นต้น และมักมองและสังเกตพฤติกรรมของคนรอบตัวมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกมารยาทการกินให้เด็กวัยนี้โดย
พ่อแม่ลูกกินข้าวบนโต๊ะอาหาร
• ฝึกให้กินเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มฝึกให้เขานั่งกินข้าวเป็นที่บนโต๊ะพร้อมกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยลดการช่วยเหลือลงให้เขาจัดการกินอาหารได้ด้วยตัวเอง ตามธรรมชาติช่วงวัยนี้เขาสามารถกินข้าวได้เรียบร้อยขึ้น ไม่หกเลอะเทอะแล้ว โดยเขาควรใช้ช้อนตักอาหารเอง ใช้มือหยิบสิ่งของเอง และสามารถดื่มน้ำจากแก้วโดยใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้แล้ว รวมถึงสอนให้เขาตักอาหารกินแบบพอดีคำ ไม่ยัดอาหารคำโตเข้าปาก รู้จักใช้ช้อนแบ่งอาหารในชาม หรือหั่นสิ่งของในจานก่อน คุณพ่อคุณแม่เพียงคอยระวังไม่ให้เขาเล่นซน เคาะจาน ชาม หรือเล่นอาหาร เพราะหากคุณพ่อคุณแม่เข้าไปช่วยเหลือเด็ก ๆ จนเกินความพอดีอาจขัดขวางพัฒนาการในการเรียนรู้ของเขา
• ฝึกการเคี้ยว สอนให้เขาค่อย ๆ เคี้ยวอาหารแบบไม่เปิดปาก ไม่มีเสียง และไม่ควรพูดขณะเคี้ยวหรือมีอาหารอยู่ในปาก ซึ่งจะช่วยทั้งเรื่องมารยาทที่ดูสุภาพเรียบร้อย ป้องกันเศษอาหารกระเด็นออกจากปาก และยังช่วยป้องกันอาการสำลักอาหารด้วย แต่ในช่วงแรกเขาอาจยังทำไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องห้ามใช้การดุหรือเสียงดังปราบเขา แต่ควรค่อย ๆ บอก และแสดงท่าทางการเคี้ยวให้เขาเห็นว่าควรทำอย่างไร รวมถึงใช้คำพูดว่าคุณเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งเขาจะทำได้แน่นอน
• ฝึกการสื่อสารกับคนอื่น ในช่วงวัย 1 ปี เด็ก ๆ จะพูดได้ทีละ 1 พยางค์ เช่น หม่ำ ร้อน นม เป็นต้น แต่เมื่อเข้าสู่อายุ 2 ปี เขาจะสามารถเอาคำมาต่อกันพูดความต้องการตัวเองออกมา เช่น กินข้าว ไม่หิว ขอนม ไปเที่ยว เป็นต้น ดังนั้นการได้กินข้าวพร้อมหน้ากับคนในครอบครัวจะช่วยให้เขาเติมคำศัพท์ในคลังคำศัพท์ของเขา สามารถเชื่อมโยง และสื่อสารออกมาเพื่อบอกความต้องการของตัวเขาเองให้คนอื่นรับรู้ได้
เด็กวัยก่อนเรียน (อายุ 3 – 5 ปี)
2. เด็กวัยก่อนเรียน (อายุ 3 – 5 ปี) ช่วงวัยนี้พัฒนาการร่างกายของเด็ก ๆ จะเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน สามารถควบคุมการเคลื่อนไหว และการทรงตัวได้ดีขึ้น ที่สำคัญคือเด็กในช่วง 3 – 5 ปี เป็นวัยเรียนรู้ และมักเลียนแบบผู้ใหญ่ โดยยังไม่สามารถแยกแยะพฤติกรรมที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสมออกจากกันได้ เขาจะชอบแสดงความเป็นตัวของตัวเอง และมักจะไม่ทำตามหากมีการออกคำสั่งหรือบังคับแต่กลับทดลองทำสิ่งตรงข้ามกับ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ และคนในครอบครัวจึงต้องสอนมารยาทในการรับประทานอาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสามารถเป็นแบบอย่างการกระทำในชีวิตประจำวัน และการมีมารยาทการกินที่ดีให้เขาคุ้นเคย และทำตามเอง
• เรียนรู้อุปกรณ์หลากหลาย ส่วนใหญ่ตอนเริ่มฝึกกินเองคุณพ่อคุณแม่ก็มักให้เขาใช้ช้อนในการกินทุกอย่าง เมื่อเข้าสู่วัยนี้ลองสอนให้เขารู้จักหน้าที่ของอุปกรณ์ต่าง ๆ บนโต๊ะอาหาร เช่น ช้อนใช้ตักข้าว และซุป ส้อมใช้ตักอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว หรือใช้จิ้มอาหารที่เป็นชิ้น จานใช้ใส่ข้าว หรืออาหารที่มีลักษณะแห้ง เช่น ของทอด อาหารผัด ชามใช้ใส่อาหารที่มีน้ำ เช่น ซุป แกง ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น พร้อมอธิบาย และใช้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง เขาจะสามารถเลือก และตัดสินใจใช้อุปกรณ์เหล่านั้นกับประเภทอาหารอย่างถูกต้องเอง สิ่งที่ควรระวังเรื่องการกินของเด็กวัยนี้คือ เมื่อเขาสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้เองแล้วต้องคอยสังเกตไม่ให้เขาตักกินข้าวคำน้ำคำ
• ฝึกไม่เลือกกิน แยกแยะอาหารได้ เมื่อเด็กรู้จักอาหารหลากหลายขึ้น เขาอาจจะเลือกอาหารกินตามความรู้สึกชอบ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความรู้เรื่องโภชนาการ ผักหลากสี และคอยบอกเรื่องอาหาร 5 หมู่ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ทำไมต้องกินให้ครบถ้วน คุณพ่อคุณแม่สามารถดูเคล็ดลับการเลือกอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการเพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตสมวัยและมีสุขภาพแข็งแรง คลิก ในช่วงแรกเขาอาจไม่เข้าใจแต่หากทำบ่อย ๆ เข้า จะเห็นความสำคัญ และมองว่าการกินหลากหลายจะช่วยให้เขาเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง โดยคุณพ่อคุณแม่หรือสมาชิกในครอบครัวอาจใช้การชวนกิน หรือตักอาหารที่เขาไม่เคยลองชนิดใหม่ ๆ นำเสนอใน รูปแบบที่แตกต่าง หลากสีสัน โดยอาจต้องลองหลายครั้งก่อนที่เขาจะยอมรับ และลองกิน
• ฝึกใช้ช้อนกลาง คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเรื่องสุขนิสัย และโภชนาการเหมาะสม เริ่มจากการสอนให้เขาใส่ใจเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ บนโต๊ะอาหาร อย่างการใช้ช้อนกลางตักอาหารให้ติดเป็นนิสัยเมื่อต้องกินร่วมกับคนอื่น การกินอาหารปรุงสุก และสะอาด หากอาหารหก หรือหล่นแล้วห้ามเก็บขึ้นมากินต่อ การสอนให้เขาล้างมือก่อนกินอาหารด้วยตัวเอง นอกจากจะช่วยให้มีสุขอนามัยที่ดีแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อการเข้าสังคมในอนาคต
• สอนคำพูดสุภาพ ใช้การพูดคุยบนโต๊ะอาหารฝึกให้เขาพูดอย่างไพเราะโดยมีคำลงท้ายว่า ครับ/ค่ะ เสมอ รวมถึงสามารถสอนวิธีขอ หรือรับอาหารจากผู้ใหญ่ และต้องพูดขอบคุณทุกครั้ง สอนให้เขายอมรับผิด และพูดขอโทษหากตักอาหารเลอะ หรือทำผิดพลาดโดยคุณพ่อคุณแม่ต้องพร้อมให้อภัย และปลอบเขาด้วยคำพูดที่นิ่มนวล หรือสอนให้เขาพูดขออนุญาตหากจะลุกไปจากโต๊ะไปเข้าห้องน้ำ
• เก็บจานด้วยตัวเอง กล้ามเนื้อของเด็กวัยนี้สามารถหยิบจับถือสิ่งของได้มั่นคงขึ้น ลองฝึกให้ช่วยยกอาหารจากครัวไปเสิร์ฟที่โต๊ะ ฝึกเขารวบช้อนส้อมเมื่อกินอิ่มแล้ว และเก็บอุปกรณ์การกินของตัวเองไปวางที่อ่างล้างจานเองโดยไม่ต้องรอให้คนอื่นคอยเก็บให้ เมื่อเขาทำได้บ่อยครั้งลองบอกให้เขาช่วยเก็บอุปกรณ์ของคนอื่นที่ร่วมโต๊ะอาหาร หรือมอบหมายหน้าที่เก็บจานชามให้เขารับผิดชอบจะช่วยให้เขารู้จักการมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นได้
3. เด็กวัยเรียน (อายุ 6 ปี ขึ้นไป) เมื่อเข้าสู่วัยเรียนเด็ก ๆ พัฒนาการเด็กวัยนี้จะสามารถใช้กล้ามเนื้อได้คล่องแคล่วขึ้น สามารถทำกิจกรรมที่ใช้สมาธิ และทำร่วมกับผู้อื่นได้มากขึ้น เขาจะเริ่มเข้าใจเหตุผล และการวางตัวมากขึ้นจากการปรับตัวเมื่ออยู่ที่ในโรงเรียน และเป็นวัยที่สามารถปลูกฝังความรับผิดชอบ วินัย และการช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเต็มที่
ทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่
• ฝึกการกินร่วมกับผู้ใหญ่ ลองให้เขาได้กินข้าวกับคนอื่น เช่น ญาติ เพื่อนคุณพ่อคุณแม่ หรือการพาเขาไปกินอาหารนอกบ้าน จะช่วยให้เขาเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองมากขึ้นทีละนิด ฝึกให้เขาสังเกตสมาชิก และรู้จักรอคอยทุกคนบนโต๊ะอาหารพร้อมก่อนจึงค่อยเริ่มกิน
• ฝึกให้ช่วยงานส่วนรวม การมอบหมายหน้าที่ให้เด็ก ๆ ทำงานบ้านร่วมกับผู้ใหญ่ เช่น การจัดโต๊ะอาหาร ช่วยเก็บโต๊ะอาหาร และล้างจาน เป็นต้น นอกจากจะเป็นการฝึกความรับผิดชอบ และฝึกความละเอียดรอบคอบแล้ว ยังเป็นการฝึกให้เขาสามารถช่วยเหลืออย่างเต็มใจ โดยไม่ต้องให้คนอื่นร้องขอ
• สอนให้เขารู้หน้าที่ และเวลา ควรพูดคุย และมีข้อตกลงระหว่างกันว่าการกินข้าวพร้อมหน้าในแต่ละวัน เป็นช่วงเวลาสำคัญของครอบครัว ให้เข้าใจเวลาว่าต้องหยุดเล่น หรือดูหน้าจอบนโต๊ะอาหาร ปิดเกมส์ คลิป หรือการ์ตูน ด้วยตัวเองแบบไม่ต้องบังคับ รวมไปถึงรู้หน้าที่ต้องแปรงฟันหลังมื้ออาหารได้ด้วยตัวเอง
• สร้างช่วงเวลาคุณภาพ เน้นการพูดคุยหรือสื่อสารกันแบบ 2 ทาง ที่มีการโต้ตอบกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับเด็ก ๆ โดยผู้ใหญ่อาจอาจเปิดบทสนทนาชวนเด็ก ๆ คุยเรื่องราวที่พบเจอแต่ละวัน เช่น เพื่อนที่โรงเรียน อาหารที่ได้กิน การบ้านวิชาต่าง ๆ เป็นต้น ช่วยให้เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่พบเจอในแต่ละวันเป็นการสำรวจวิธีคิดของเขา ส่งเสริมให้เขากล้าเล่ากล้าแสดงออก เขาจะรู้สึกไว้วางใจที่จะสามารถสื่อสารกับคนในครอบครัวได้ทุกเรื่อง

สิ่งสำคัญในการปลูกฝังเรื่องมารยาท และพฤติกรรมการกินที่ดีให้เด็ก ๆ คือการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความพยายามฝึกฝนเขาบ่อย ๆ อย่างใจเย็น เพราะแน่นอนว่าเด็กไม่อาจทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ในครั้งแรก นอกจากนี้ต้องคอยสังเกตหากเด็กมีพฤติกรรม หรือแสดงนิสัยที่ไม่เหมาะสมออกมา ควรพูดคุยกับเขาด้วยเหตุผล บอกสิ่งที่ถูกที่ควรให้เขาเข้าใจ พร้อมให้โอกาสเขาแก้ไขหากเกิดสถานการณ์แบบเดิมอีก นอกจากนี้คำชื่นชมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ถือเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขา ควรเอ่ยปากชมเมื่อเขาแสดงกริยาที่น่ารัก หรือพูดจาอย่างสุภาพออกมา การสอนให้เด็กสามารถจัดการกิจวัตรประจำวันอย่างการกินได้ด้วยตัวเอง จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กๆทางร่างกาย และอารมณ์ตามวัย ให้เขาแสดงความเป็นตัวของตัวเองอย่างมีเทศะ และมีมารยาทเหมาะสม ซึ่งจะติดเป็นพื้นฐานนิสัยที่ดีสู่อนาคต

คุณพ่อคุณแม่สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเนสท์เล่เพื่อเด็กสุขภาพดี Nestlé for Healthier Kids คลิก โครงการที่มีมุ่งมั่นให้คนรุ่นใหม่ได้บริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่อร่อย และอุดมคุณประโยชน์ มีจุดมุ่งหมายเพิ่มพูนวิถีชีวิตให้เด็กกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2573 และยังมีแผนทำโครงการอื่นเพื่อสนับสนุนระบบอาหารที่ยั่งยืน และดีต่อสุขภาพต่อไป

ซื้อผลิตภัณฑ์เนสท์เล่ :