Sort by
Sort by

5 วิธีสอนลูก จัดโต๊ะอาหาร พร้อมฝึกลูกกินเอง

5 วิธีสอนลูก จัดโต๊ะอาหาร พร้อมฝึกลูกกินเอง

5 วิธีสอนลูกจัดโต๊ะอาหาร พร้อมฝึกลูกกินข้าวเอง เมื่อเด็ก ๆ เข้าสู่วัยที่สามารถเริ่มกินข้าวเองได้ด้วยตัวเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่ลองมาขยับปรับจากการกินอาหาร finger food หรือจานอาหารแบบถาดหลุม มาให้เขารู้จักการช่วยเหลือตัวเอง โดยการฝึกลูกกินข้าวเอง สอนให้ลูกเข้าใจมารยาทและกาลเทศะบนโต๊ะอาหาร ที่จะส่งเสริมการเรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในอนาคต โดยช่วงวัยที่เหมาะสมในการสอนลูกจัดโต๊ะอาหาร คือตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป เพราะเด็กวัยนี้สามารถเริ่มนั่งกินอาหารได้ด้วยตัวเองพร้อมกับสมาชิกในบ้านได้เอง และรู้จักพูดความต้องการของตัวเองได้ เช่น หิว – อิ่ม ร้อน – เย็น หรือสามารถบอกได้แล้วว่าอยากกินอะไร? วันนี้เราจึงนำวิธีสอนลูกจัดโต๊ะ 5 ข้อ ที่จะช่วยการฝึกนิสัยการกินที่ดีพร้อมได้พัฒนาทักษะการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา และการช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเขาตั้งแต่เด็กให้สามารถเข้าสังคมได้ดีเมื่อก้าวเข้าสู่วัยเรียน

1. สอนให้รู้จักอุปกรณ์

เริ่มต้นจากการสอนพื้นฐานการจัดโต๊ะอาหาร ว่าบนโต๊ะอาหารควรมีอุปกรณ์อะไรบ้าง? และแต่ละอย่างทำหน้าที่อย่างไร? พร้อมกับแนะนำวิธีใช้ให้เด็ก ๆ เช่น ควรจับช้อนด้วยมือขวา จับส้อมด้วยมือซ้าย จานสำหรับใส่ข้าว หรืออาหารจานเดี่ยว ชามสำหรับซุปหรืออาหารที่มีน้ำเยอะ ๆ ผ้าเช็ดปากจะวางอยู่ด้านซ้ายถ้ากินเลอะเทอะให้นำมาเช็ดทำความสะอาด เป็นต้น โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกอุปกรณ์ จาน ชาม ช้อน ส้อม มีด ให้เหมาะสมกับขนาดมือของเด็ก และต้องแข็งแรงทนทานต่อการกระแทก ตกแล้วไม่แตก ช่วยฝึกลูกกินข้าวเองได้ถนัดขึ้น ได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น ข้อมือ ข้อนิ้ว พร้อมกับค่อย ๆ พัฒนาการทำงานประสานกันระหว่างมือกับสายตา ในระหว่างที่เขาตักอาหารและจับช้อนส้อมเข้าปาก เพื่อให้การกินอาหารของลูกนั้นประสบความสำเร็จ
ภาพเด็กกำลังกินอาหารกับครอบครัว
ลูกจัดโต๊ะอาหาร

2. บอกตำแหน่งวางที่เหมาะสม

ตำแหน่งของอุปกรณ์ต่าง ๆ บนโต๊ะอาหาร ในการสอนลูกจัดโต๊ะอาหารเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะจะช่วยปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ขั้นตอนก่อนจะเริ่มกินอาหาร และได้รู้สึกว่าการจัดโต๊ะเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบของเขา คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกวางจานหนึ่งใบตรงหน้าตัวเอง แล้ววางซ้อนส้อมลงบนจาน วางถ้วยซุป (ถ้ามี) วางแก้วน้ำฝั่งขวาเยื้องไปด้านบน และผ้าเช็ดปากด้านซ้าย เป็นต้น พร้อมกับสอนเขานั่งกินที่โต๊ะอาหารทุกครั้ง ในช่วงแรกเด็ก ๆ อาจไม่ชอบนั่งกินที่โต๊ะอาหารสักเท่าไหร่ เพราะอาจยังติดนั่งโต๊ะกินข้าวสำหรับเด็กโดยเฉพาะ หรือชอบวิ่งเล่นไปมา แต่คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกเขาให้ทำให้ได้ เพื่อปูพื้นฐานการกินอาหารร่วมกับผู้อื่นเมื่อต้องเข้าสังคมในอนาคต

3. ระบุตำแหน่งอุปกรณ์ด้วยกระดาษปูโต๊ะ

แน่นอนว่าเด็ก ๆ จะไม่สามารถจำตำแหน่งในการจัดโต๊ะอาหารหรืออุปกรณ์บนโต๊ะอาหารได้ทั้งหมดในช่วงเริ่มต้น คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ใช้กระดาษที่มีขนาดใหญ่กว่าแผ่นรองจาน วาดตำแหน่ง จาน ชาม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดปาก เพื่อเป็นไกด์ให้เขาเรียนรู้ จดจำตำแหน่ง และจัดวางได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลหากเขาทำเลอะก็สามารถเปลี่ยนกระดาษแผ่นใหม่ได้ และอาจทำแบบเดียวกันนี้ให้กับสมาชิกทุกคนในบ้านโดยเขียนชื่อแต่ละคนไว้ เพื่อมอบหมายหน้าที่ให้เขาช่วยจัดให้คนอื่น ๆ ด้วย เป็นการฝึกการช่วยเหลือผู้อื่น และสอนเรื่องความมีน้ำใจให้เขาได้

4. เตรียมช้อนกลาง

การสอนให้เขาตักกับข้าวได้ด้วยตัวเองเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ปรารถนา เพราะจะแสดงว่าเขารู้จักตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ โดยไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่สิ่งสำคัญคือการปลูกฝังให้เด็ก ๆ รู้จักใช้ช้อนกลางตักอาหาร หรือกับข้าวที่ต้องกินร่วมกัน หรือหากจะตักให้คนอื่นก็ต้องใช้ช้อนกลางเช่นกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องวางช้อนกลางสำหรับตักอาหารไว้ในจานกับข้าวเสมอ และสมาชิกทุกคนบนโต๊ะอาหารต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างอย่างเคร่งครัด เพราะเด็ก ๆ สามารถสังเกตพฤติกรรมการกิน เคี้ยว กลืน และการตักอาหารจากผู้ใหญ่ แล้วจะนำไปปฏิบัติตามด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการฝึกลูกกินข้าวเองไปในตัว

5. ฝึกยกเสิร์ฟ

ลองมอบหมายหน้าที่ให้เขาเป็นพนักงานเสิร์ฟยกอาหารจากครัวขึ้นโต๊ะ โดยอาจบอกตำแหน่งการจัดโต๊ะอาหารที่ควรวางให้เขา เช่น อย่างอาหารไทยควรวางแกง หรือซุปตรงกลางโต๊ะอาหาร แล้ววางจานผัดหรือทอดอยู่ถัดออกมา เป็นต้น หรือหากเป็นอาหารฝรั่งควรตักอาหารไว้ในจานตัวเองก่อนแล้วค่อย ๆ กิน และต้องคอยช่วยส่งอาหารให้สมาชิกในครอบครัวโดยส่งให้กันโดยวนไปทางขวา เป็นต้น และต้องรู้จักรอให้สมาชิกทุกคนบนโต๊ะครบก่อน จึงจะเริ่มกินอาหารพร้อมหน้ากัน ซึ่งจะช่วยฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักสังเกตประเภทและการจัดวางอาหารประเภทต่าง ๆ ช่วยให้เขาสามารถวางแผนเป็นลำดับขั้นตอน เช่น ควรยกเมนูใดไปวางที่โต๊ะก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการจัดเรียง หรือควรวางจานสลัดตรงไหนดี? เป็นต้น และช่วยฝึกมีทักษะการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เช่น หากทำอาหารหกก็สามารถทำความสะอาดได้เอง หรือหากอาหารในจานหมดก็สามารถนำไปเติมได้ที่ครัวด้วยตัวเอง เป็นต้น
กินข้าวกับครอบครัว
ทานข้าวเป็นครอบครัว
ไม่ว่าเด็กจะสามารถเรียนรู้หรือฝึกฝนทักษะด้านต่าง ๆ จากการฝึกจัดโต๊ะอาหารและการฝึกลูกกินข้าวเองได้มากน้อยเพียงใด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเติมเต็มความสุขระหว่างการสอนมารยาทบนโต๊ะอาหารสำหรับเด็ก เพื่อทำให้มื้ออาหารสนุก และน่าจดจำสำหรับเด็ก ๆ เพราะเวลาอาหารต้องเป็นเวลาที่มีคุณภาพของครอบครัว เด็ก ๆ จะต้องไม่รู้สึกอึดอัด กดดัน หรือถูกบังคับ และการที่สมาชิกในครอบครัวจะได้อยู่กันพร้อมหน้า ชวนกันพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวประจำวันร่วมกัน ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคม ก่อนที่จะพบเจอสังคมที่โรงเรียนหรือสังคมอื่น ๆ ในอนาคต
คุณพ่อคุณแม่สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเนสท์เล่เพื่อเด็กสุขภาพดี Nestlé for Healthier Kids คลิก โครงการที่มีมุ่งมั่นให้คนรุ่นใหม่ได้บริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่อร่อยและอุดมคุณประโยชน์ มีจุดมุ่งหมายเพิ่มพูนวิถีชีวิตให้เด็กกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2573 และยังมีแผนทำโครงการอื่นเพื่อสนับสนุนระบบอาหารที่ยั่งยืน และดีต่อสุขภาพต่อไป

ซื้อผลิตภัณฑ์เนสท์เล่ :