Sort by
Sort by

7 วิธีชวนลูกเข้าครัว ฝึกพัฒนาการทักษะให้ลูก

7 วิธีชวนลูกเข้าครัว ฝึกพัฒนาการทักษะให้ลูก
เชื่อไหมว่าเพียงแค่คุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในกระบวนการทำอาหาร ก็เป็นวิธีการที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ได้อย่างคาดไม่ถึง มาอ่านเรื่องน่ารู้จาก อ.รณสิงห์ รือเรือง นักจิตวิทยาคลินิก ที่จะมาเล่าประโยชน์จากการชวนลูกเข้าครัวที่ช่วยทั้งกระตุ้นความสนุกสนานให้กิจกรรมทำอาหารธรรมดา ๆ ไม่น่าเบื่อ พร้อมเสริมสร้างการเรียนรู้ทักษะชีวิตรอบด้านผ่านการลงมือทำด้วยตัวเอง

ชวนคิดเมนูอาหาร ฝึก ช่างสังเกต คิด และวางแผน

ชวนเด็ก ๆ มามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการคิดเมนู สำรวจวัตถุดิบที่มีอยู่ จดรายการของขาดที่ต้องซื้อ เป็นกระบวนการง่าย ๆ ที่ช่วยฝึกเด็กให้ช่างสังเกต รู้จักคิดและวางแผนเป็น ทำงานได้อย่างเป็นระบบตามลำดับที่เหมาะสม โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกกำหนดเป้าหมายและวางแผนง่าย ๆ ในครัวเริ่มจาก
• ให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิดเมนูอาหารที่เขาอยากทำหรือชื่นชอบ
• ลองให้เด็กวางแผนวิธีการทำอย่างไร? ต้องใส่อะไรบ้าง? เพื่อเสริมพัฒนาการและความเข้าใจจากการเรียนรู้ขั้นตอนการทำอาหาร รวมถึงทำความรู้จักวัตถุดิบแปลกใหม่ที่ต้องใช้ ในกระบวนการนี้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ หาข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบแต่ละชนิดได้อีกด้วย
• หลังจากนั้นชวนกันมาสำรวจตู้เย็นที่บ้านว่ามีวัตถุดิบเหล่านั้นหรือไม่? หรือเข้าสามารถหาวัตถุดิบเหล่านั้นได้จากที่ไหน? เป็นต้น

ขั้นตอนนี้สามารถสอดแทรกการเรียนรู้เรื่องราวโภชนาการและประโยชน์ของวัตถุดิบแต่ละชนิด ส่งเสริมให้เด็กๆ ฝึกการคิดวิเคราะห์ สำรวจ วางแผนเป็นขั้นเป็นตอนและได้ลงมือปฏิบัติจริง เช่น เด็ก ๆ สามารถปลูกผักสวนครัวด้วยตัวเอง แล้วมาใช้ในเมนูของเขาเองได้ ซึ่งจะเป็นทักษะพื้นฐานในการจัดการชีวิตอย่างเป็นระบบเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่หากนึกไม่ออกว่าจะทำอะไรดี? ขอแนะนำสูตรอาหารเหมาะกับทุกเพศทุกวัย คลิก เป็นไอเดียไว้ครีเอตเมนูอร่อยง่าย ๆ

ช่วยเตรียมวัตถุดิบ เสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็ก

วิธีง่าย ๆ ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของสมองและประสาทสัมผัส คือการมอบหมายให้ช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในครัว เช่น การเตรียมวัตถุดิบ, ลองหยิบจับสิ่งของเครื่องใช้ในครัว ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มให้ลูกช่วยเป็นลูกมือง่าย ๆ เช่น
• ฝึกให้เด็กหยิบจับข้าวของเครื่องใช้ในครัว หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้คุ้นเคย
• ลองให้ ชั่ง ตวง วัด เครื่องปรุง หรือส่วนผสม โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนเรื่องตัวเลขและน้ำหนักไปได้ในตัว
• ทดลองใช้แรงและฝึกทักษะในการเตรียมวัตถุดิบประกอบอาหาร เช่น ตอกไข่, หั่นผัก, ล้างผัก, นวดแป้ง, กดแม่พิมพ์ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กโดยเฉพาะนิ้วมือได้ดีทีเดียว รวมถึงฝึกความสัมพันธ์ระหว่างมือและสายตาที่ต้องทำงานประสานกัน ถือว่าเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและสมองไปพร้อมกัน

ปรุงอาหารร่วมกัน ฝึกสมองให้เชื่อมโยง

คุณพ่อคุณแม่อย่าลังเลที่จะให้เชฟตัวจิ๋วมีส่วนร่วมในขั้นตอนการปรุงอาหาร เพราะการได้ลงมือทำจริง เด็ก ๆ จะต้องใช้ทักษะและประสบการณ์หลายด้านในเวลาเดียวกัน เมื่อได้ฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สมองของเด็กจะทำงานเชื่อมโยงได้อย่างเป็นระบบ

• ฝึกให้เด็กได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง ฝึกตัดสินใจโดยมีคุณแม่คอยให้คำแนะนำอยู่ใกล้ ๆ เช่น ลองให้เขาใส่วัตถุดิบและส่วนผสมต่าง ๆ ลองให้เด็กเรียงลำดับขั้นตอนที่จะทำด้วยตัวเอง เป็นต้น
• ฝึกสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอาหาร ทั้งหน้าตา, สี, กลิ่น และรสชาติ ลองแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับเรื่องที่ไม่คาดคิด เช่น ไข่ไม่สุก, เนื้อหมูไหม้, รสชาติอาหารที่หวานไปหรือเค็มไป ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้จะช่วยฝึกกระบวนการภายในสมองของเด็ก ให้ทำงานแบบบูรณาการ หรือที่เรียกว่า Sensory Integration (SI) ในการช่วยจัดระเบียบและเชื่อมโยงความรู้สึก รวมถึงประสาทสัมผัสต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
• ช่วยฝึกให้เด็กรู้จักรอคอย เพราะการทำอาหารมีลำดับขั้นตอน เช่น ต้องรอให้ยีสต์ในขนมปังทำงานจนพองฟูก่อนจึงค่อยเอาเข้าเตาอบได้, ต้องรอให้เนื้อสัตว์สุกก่อนถึงจะสามารถปรุงอาหารลำดับถัดไปได้ เป็นต้น

การได้ปรุงอาหารด้วยตัวเองนอกจากจะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกมีความสุขสนุกสนานระหว่างทำแล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองและรู้สึกมีคุณค่าที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยสร้างสรรค์มื้ออาหารจนสำเร็จ

จัดโต๊ะอาหาร เสริมสร้างสมองส่วนประสบการณ์

การจัดจานและจัดโต๊ะอาหารช่วยฝึกให้เด็ก ๆ ได้ใช้ความคิด ตั้งแต่การจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์, จัดสิ่งของให้เข้าชุด (Food Art) ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีสมาธิและสมองซีกขวาทำงานได้ดียิ่งขึ้น
• การจัดโต๊ะอาหารยังฝึกการมีจิตอาสาหรือการทำงานเพื่อส่วนรวม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของเด็กจากการจัดโต๊ะอาหารให้สวยงามและมีอุปกรณ์เหมาะสม ครบถ้วนจากการคิดวางแผน รู้จักสำรวจและนับจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่จะกินอาหารร่วมกันในแต่ละมื้อ
• ลองให้เด็ก ๆ เลือกใช้ภาชนะให้เหมาะกับอาหาร ตกแต่งอาหารในจานให้สวยงาม
• เตรียมสิ่งของบนโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นผ้าปูโต๊ะ, จานชาม, ช้อนส้อม และแก้วน้ำ แล้วลองจัดวางอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร โดยให้เด็ก ๆ คิดว่าต้องเตรียมสิ่งไหนก่อนหลัง วางตำแหน่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สวยงาม เหมาะสมและสะดวกต่อการหยิบจับ

หากได้ฝึกให้เด็กจัดโต๊ะบ่อยครั้งขึ้น จะช่วยเสริมสร้างสมองส่วนประสบการณ์และการรับรู้ ช่วยฝึกการคิดที่สร้างสรรค์และมีสุนทรียศิลป์มากขึ้น

ทานอาหารพร้อมหน้า เรียนรู้ทักษะสังคม

การทานอาหารพร้อมหน้าได้มากกว่าแค่ความอร่อย เพราะช่วยเชื่อมประสานความสัมพันธ์คนในบ้านแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สร้างบรรยากาศอบอุ่นในบ้านได้ไม่ยาก รวมไปถึงช่วยเสริมสร้างทักษะชีวิตและพัฒนาทักษะทางสังคมผ่านการพูดคุย ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้มารยาทที่ดีบนโต๊ะอาหาร รู้จักช่วยเหลือแบ่งปัน และให้เกียรติซึ่งกันและกัน
• ระหว่างมื้ออาหารเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณจะได้พูดคุยด้วยคำพูดเชิงบวก เช่น กล่าวคำชื่นชมที่เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการเข้าครัววันนี้ หรือกล่าวขอบคุณในความช่วยเหลือจนออกมาเป็นมื้ออาหารที่ดี ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เด็ก ๆ อยากทำอีก
• เรียนรู้มารยาทและบทเรียนบนโต๊ะอาหาร เช่น การให้เกียรติผู้ใหญ่โดยตักอาหารให้คนอาวุโสที่สุดในบ้านก่อน, การเคี้ยวอาหารอย่างสุภาพไม่ให้เกิดเสียงดัง เป็นต้น
• ฝึกให้รู้จักการรอคอย เพราะต้องให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวมาพร้อมหน้าค่อยเริ่มกิน หรือรอให้ทุกคนอิ่มก่อนจึงค่อยลุกจากโต๊ะอาหาร เป็นต้น
• ฝึกเด็ก ๆ ให้สังเกตและเอาใจใส่ความต้องการของคนอื่น ๆ เช่น ไม่ตักอาหารส่วนที่ดีที่สุดมากินคนเดียว, สังเกตว่าสมาชิกคนไหนชอบอะไรเพื่อวางแผนทำอาหารในครั้งถัดไป, รู้จักเสียสละและแบ่งปันอาหารจานอร่อยที่สุดให้พี่น้อง เป็นต้น

ช่วยกันเก็บล้าง ปลูกฝังวินัย ความรับผิดชอบ

มาทำให้การเก็บโต๊ะอาหารที่น่าเบื่อสนุกขึ้นด้วยการให้เด็กมีส่วนช่วยเก็บเศษอาหาร, ยกจานเข้าไปที่ครัว หรือช่วยล้างภาชนะ ช่วยปลูกฝังระเบียบวินัยและฝึกความรับผิดชอบ เป็นการปิดท้ายบทเรียนการเข้าครัวอย่างสมบูรณ์แบบ
• หลังกินอาหารเสร็จมอบหมายหน้าที่ให้เด็กช่วยเก็บกวาดเศษอาหาร, ล้างจาน, ทิ้งขยะ หรือเช็ดทำความสะอาดโต๊ะอาหาร ได้เคลื่อนไหวร่างกายไปในตัว
• คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มทำให้เด็ก ๆ เห็นเป็นตัวอย่างก่อนหรือทำไปพร้อมกัน เมื่อเด็กเรียนรู้ขั้นตอนและได้ฝึกทำบ่อย จะสามารถจดจำพฤติกรรมของพ่อแม่และทำตามโดยไม่ต้องออกคำสั่งหรือบีบบังคับ ช่วยปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัย รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ให้มีความรับผิดชอบและฝึกการช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างดีทีเดียว
• นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังได้มีความรู้รอบตัวเรื่องอื่น ๆ เช่น การแยกประเภทของขยะเพื่อส่งเสริมการรักสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยที่ดี, เรียนรู้วิธีการเก็บรักษาอาหารที่กินไม่หมด เป็นต้น
• หลังกินเสร็จควรช่วยกันเก็บและล้างจานให้สะอาดทันที ซึ่งเป็นการป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกสะสม ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการสุดท้ายของมื้ออาหาร จะช่วยสอนให้เด็กรู้จักการทำภารกิจให้ลุล่วงจนเสร็จ ไม่ค้างงาน ไม่สร้างพฤติกรรมดินพอกหางหมูหรือผัดวันประกันพรุ่ง รวมไปถึงการรักษาสุขภาพของสมาชิกทุกคนในบ้านให้แข็งแรงได้ด้วยทริกง่าย ๆ คลิก

การชวนลูกเข้าครัวมาช่วยทำอาหารเองที่บ้าน ส่งผลให้สมาชิกทุกคนใรครอบครัวได้กินของที่ปรุงสุกใหม่ที่มั่นใจว่าถูกสุขอนามัย เสร็จจากเตาขึ้นโต๊ะเสิร์ฟร้อน ๆ ช่วยเพิ่มความอร่อยให้มื้ออาหาร รวมไปถึงช่วยให้แน่ใจว่าทุกคนในบ้านได้กิน อ.อาหาร อย่างหลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย รู้อย่างนี้แล้วลองชวนเด็ก ๆ ช่วยปรุงอาหารมื้อถัดไปด้วยกันเลย และหลังจากกินอาหารแสนอร่อยกันเรียบร้อยแล้ว อย่าลืม อ.ออกกำลังกาย ขยับเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น และพูดคุยเพื่อรักษา อ.อารมณ์ ของเด็กให้แจ่มใส ด้วยการรับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจและสามารถสอดแทรกการสอนทักษะการใช้ชีวิตไปพร้อมกัน

#เนสท์เล่คนไทยแข็งแรง

อ้างอิง: https://www.nestle.com/stories/cooking-kitchen-help-kids-develop-healthy-eating-habits แปล เรียบเรียง และทำภาพประกอบโดย: Nestle for Healthier Kids Thailand

You may also like