Sort by
Sort by

ฝึกสมองของลูกด้วยเทคนิคการสื่อสารเชิงบวก

ฝึกสมองของลูกด้วยเทคนิคการสื่อสารเชิงบวก
โดยธรรมชาติของเด็กที่มักชอบออกไปวิ่งเล่นและทำกิจกรรมกลางแจ้ง ร่างกายจึงต้องการอาหารหรือของว่างเพื่อเติมพลังงานและคืนความสดชื่นระหว่างวัน เด็กกับไอศกรีมจึงถือเป็นของคู่กัน แต่จะมีวิธีไหนที่ช่วยให้การกินไอศกรีมของเด็ก ๆ สามารถสอดแทรกการเรียนรู้ไปพร้อมกันได้? อาจารย์รณสิงห์ รือเรือง (นักจิตวิทยาคลินิก) จึงนำเทคนิคการสื่อสารเชิงบวกมาผสานกับการกินไอศกรีมที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ เพื่อพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ช่วยฝึกสมองมาฝากกัน

7 เทคนิคสื่อสารเชิงบวก ฝึกสมองลูกผ่านการกินไอศกรีม

1. สร้างแรงจูงใจด้วยเป้าหมาย

เริ่มต้นสำรวจว่าสิ่งที่ลูกต้องการคืออะไร ถ้าเป็นสิ่งที่ลูกชอบ สิ่งนั้นจะมีแรงกระตุ้นเพื่อไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น เพราะการเติมความคิด เหตุผล และการรอคอยเวลา ก็จะเปลี่ยนจากความต้องการธรรมดา ๆ เป็น ‘เป้าหมาย’ ทันที เมื่อลูกอยากกินไอศกรีมแล้วเดินเข้ามาหาแล้วบอกความต้องการ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้อุบายในการสื่อสาร ที่เรียกว่า “ตกลงแบบมีกติกา” ขั้นตอนนี้คุณพ่อคุณแม่ควรตอบตกลง แต่ห้ามตามใจหรือให้ในสิ่งที่ลูกต้องการในทันที ขณะเดียวกันก็ไม่ควรปิดกลั้นความต้องการของลูก ด้วยการตอบว่า ไม่ได้ ไม่ซื้อให้ ลูกจะผิดหวัง เสียใจ ร้องไห้ เพราะเมื่อเป้าหมายที่ต้องการถูกทำลายลง เด็กจะแสดงพฤติกรรมที่จะเอาชนะเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ยอมตามใจ ดังนั้น การตอบตกลงจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อฝึกสมองเล็ก ๆ ของลูกให้ทำงาน รู้จักการตั้งเป้าหมาย การคิดวิเคราะห์โดยใช้เหตุผล และการกำหนดกติกา เพื่อให้การรอคอยไอศกรีมของลูกเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ความหวัง และอารมณ์ที่อิ่มเอมใจ
สร้างแรงจูงใจ
ฝึกตั้งคำถามให้ลูกคิด

2. ฝึกตั้งคำถามให้ลูกคิด

ขั้นตอนต่อมาเป็นการฝึกให้เด็กคิดเชิงวิเคราะห์ด้วยการตั้งคำถาม โดยให้ลูกบอกหรืออธิบายรายละเอียดสิ่งที่ต้องการ ทั้งรูปร่าง ลักษณะ สีสัน สถานที่ไปซื้อ เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพเป้าหมายได้ชัดเจน จากตัวอย่างที่คุณแม่ถามลูกว่า “ไอศกรีมที่ลูกอยากกินมีรสอะไรบ้าง?” หรือชวนลูกคิดต่อว่า “แล้วไอศกรีมมีแบบไหนบ้าง มีกี่รส มีสีอะไรบ้าง ราคาเท่าไหร่ ซื้อที่ไหน” การตั้งคำถามเหล่านี้เป็นการค่อย ๆ ฝึกสมองให้ลูกได้คิดในเชิงรายละเอียดมากขึ้น หากถูกฝึกบ่อยขึ้นจะช่วยให้ลูกสามารถคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองสู่การตัดสินใจทำสิ่งต่างด้วยตัวเองอย่างถูกต้องต่อไป

3. ให้ลูกใช้สมองตัดสินใจ

เปิดโอกาสให้ลูกคิดตัดสินใจด้วยการฝึกคิดเชิงสังเคราะห์ โดยนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาจากกระบวนการข้างต้นมาคิดสรุป เปรียบเทียบ เรียงลำดับความสำคัญ เพื่อตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเลือกไอศกรีมหรือสิ่งที่ลูกชอบที่สุด ตัวอย่างคำถามเช่น “ลูกอยากกินไอศกรีมรสอะไร? เอาแบบไหนดี? หรือไปซื้อที่ไหน?” แต่สิ่งสำคัญคือหากสิ่งที่ลูกเลือกจะไม่ถูกใจคุณพ่อคุณแม่เท่าไหร่ ก็อย่าบังคับหรือตัดสินใจแทนลูกเด็ดขาด เพราะการปล่อยให้เด็ก ๆ ได้ลองผิดลองถูก แม้สุดท้ายสิ่งที่เขาเลือกจะไม่ใช่สิ่งดีที่สุด แต่เขาก็จะได้ฝึกสมองและเรียนรู้จากความผิดพลาด เป็นบทเรียนสอนให้คิดตัดสินใจเก่งขึ้นในครั้งหน้า
ให้ลูกใช้สมองตัดสินใจ
ฝึกลูกใช้เหตุผล

4. ฝึกลูกใช้เหตุผล

ส่งเสริมให้ลูกรู้จักคิดด้วยหลักการและเหตุผลว่าลูกเลือกสิ่งนั้นเพราะอะไร? คุณพ่อคุณแม่อาจตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ลูกคิดหาเหตุผลต่าง ๆ เพิ่มเติม ที่ไม่ใช่เพราะอยากกินหรือพูดอย่างเลื่อนลอยเพียงอย่างเดียว เช่น แล้วไอศกรีมที่ลูกเลือกมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร? เป็นการสอดแทรกเรื่องคุณค่าทางโภชนาการให้กับลูก หรือลูกจะเลือกแท่งใหญ่หรือแท่งเล็กดี? เป็นการสอนให้ลูกเลือกกินอย่างถูกสัดส่วน สิ่งเหล่านี้จะช่วยฝึกสมองให้ลูกสามารถเชื่อมโยงกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผลได้มากขึ้น

5. ฝึกความกล้าหาญและมั่นใจ

ฝึกให้ลูกได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จะช่วยฝึกความกล้าหาญและความมั่นใจให้ลูก เช่น ปกติแม่จะเป็นคนซื้อไอศกรีมให้ตลอด ครั้งนี้แม่ให้ลูกลองไปถามคนขายด้วยตัวเองว่าไอศกรีมที่อยากได้ราคาเท่าไหร่? ถ้าไม่ไปถามลูกก็จะอดกิน ในช่วงแรกเด็กอาจจะมีท่าทีไม่ค่อยมั่นใจ คุณพ่อคุณแม่อาจเดินตามหลังไปเป็นเพื่อนเพื่อให้กำลังใจ แต่เมื่อฝึกลูกทำบ่อยครั้ง จะช่วยพัฒนาความมั่นใจให้เขากล้าแสดงออก สามารถช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้มากยิ่งขึ้น
ฝึกความกล้าหาญและมั่นใจ
ฝึกการรอคอยและรับผิดชอบ

6. ฝึกการรอคอยและรับผิดชอบ

การกำหนดกติกาเป็นการฝึกให้เด็กต้องรอคอยและทำตามเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน แล้วถึงจะได้เป้าหมายในสิ่งที่เด็กต้องการ แสดงให้ลูกเห็นว่าถ้าเขารอแล้วจะเกิดผลอะไร? เป็นการฝึกทักษะสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า Executive Functions เช่น หากลูกทำการบ้านเสร็จ ลูกจะได้เงินไปซื้อไอศกรีม เป็นการฝึกให้ลูกรู้จักอดทนและรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการฝึกสมองให้เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเอง (Self-Control) ที่สำคัญหากเขาทำภารกิจสำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้เสมอ เพราะลูกเชื่อใจคุณว่าถ้าหากรู้จักรอ คุณพ่อคุณแม่ก็จะให้สิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ

7. ชื่นชมในความพยายาม

เมื่อลูกทำภารกิจสำเร็จตามข้อตกลง ให้คุณพ่อคุณแม่กล่าวชื่นชมในความพยายามของลูกเสมอ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกภูมิใจและพยายามปรับพฤติกรรมตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจารย์รณสิงห์มีตัวอย่างการพูดชื่นชมลูกแบบใหม่ที่ไม่จำเจด้วย 3 ขั้นตอน คือ
1. บอกความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่เข้าไปด้วย เพื่อแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณให้ความสำคัญ เช่น “แม่ดีใจ” “แม่ภูมิใจในตัวลูก”
2. บอกพฤติกรรมที่ทำสำเร็จเป็นรูปธรรม หรือพูดถึงความพยายามในกระบวนการที่ลูกทำ ถึงแม้จะยังไม่สำเร็จก็ตาม เพื่อกระตุ้นให้ทำจนสำเร็จ เช่น “ทำการบ้านจนเสร็จ” หรือ “ลูกทำได้ตั้ง 3 ข้อแล้ว พยายามอีกนิดเดียว อีก 2 ข้อก็จะเสร็จแล้ว”
3. บอกคุณลักษณะ เป็นการฝึกให้ลูกเข้าใจความหมายเชิงนามธรรม เช่น “ลูกเป็นคนมีความอดทนและมีความพยายาม” หรือ “ลูกเป็นคนมีความรับผิดชอบดีเยี่ยมเลย”
ชื่นชมในความพยายาม
จากตัวอย่างคุณพ่อคุณแม่ควรเจาะจงชมลูกในกระบวนการหรือพฤติกรรมที่ลูกทำสำเร็จว่า “แม่ภูมิใจในตัวลูก ลูกเก่งมากที่ทำการบ้านเสร็จ เป็นเด็กมีความรับผิดชอบและอดทนรอคอยจริง ๆ เดี๋ยวเราไปกินไอศรีมกัน” เพื่อให้ลูกได้เห็นความสำคัญของความพยายามที่ทำ ทำให้เด็กเกิดความภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self Esteem) เป็นการเสริมสร้างแรงจูงใจให้ลูกเรียนรู้ที่จะรอคอยในครั้งต่อไป
หากคุณพ่อคุณแม่นำเทคนิคการสื่อสารเชิงบวกทั้งหมดนี้ไปลองทำ รับรองว่าจะช่วยเปลี่ยนการกินไอศกรีมธรรมดาของเด็ก ๆ เป็นการเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ฝึกสมองให้เด็กรู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมพัฒนาตัวเองให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตของชาติ

#N4HKThailand #HealthierKids

ซื้อผลิตภัณฑ์เนสท์เล่ :

You may also like