Sort by
Sort by

6 วิธีรับมือเมื่อลูกท้องเสีย และวิธีป้องกันที่แม่ต้องรู้!

6 วิธีรับมือเมื่อลูกท้องเสีย และวิธีป้องกันที่แม่ต้องรู้!

ลูกท้องเสียไม่ใช่เรื่องเล็กนะคะ เพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการได้ คุณแม่ควรรู้วิธีดูแลเมื่อลูกท้องเสีย พร้อมวิธีป้องกันค่ะ

 

ลูกท้องเสียไม่ใช่เรื่องเล็กที่แค่กินยาก็หายนะคะคุณแม่ เพราะหากลูกท้องเสียบ่อย หรือท้องเสียนาน อาจส่งผลต่อพัฒนาการได้เลยนะคะ ดังนั้นเมื่อลูกมีอาการท้องเสีย คุณแม่จึงควรรู้วิธีดูแล รวมถึงวิธีป้องกันไม่ให้ลูกเสี่ยงรับเชื้อโรคค่ะ

ถ้าลูกมีอาการแบบนี้ ฟันธงเลยว่าท้องเสียแน่นอน

  • ถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน
  • ปวดท้อง งอแง ซึม ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม หรือกินอาหารได้น้อยลง
  • ถ่ายเหลว มีน้ำออกมามากกว่ากากอุจจาระ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งหรือมากกว่า
  • อาจมีไข้และอาเจียน โดยเฉพาะท้องเสียที่เกิดจากไวรัสโรต้าจะมีอาการอาเจียนอย่างหนักร่วมด้วย

ถ้าลูกมีอาการแบบนี้ไม่ดีแน่ รีบพาไปหาหมอด่วน!

  • ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน
  • มีไข้สูงหรือชัก อาเจียนบ่อย ริมฝีปากแห้ง ตาโหลลึก กระหม่อมบุ๋ม หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยหอบ
  • ไม่กินนมและอาหาร หรือดื่มน้ำเกลือแร่แล้วยังเพลียหรือซึมอยู่
  • ปัสสาวะน้อยมีสีเข้ม
 

ท้องเสีย ดูแลอย่างไร

  1. สำหรับลูกที่ยังดื่มนมแม่อยู่ ไม่ต้องหยุดให้นมนะคะ เพราะนมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรงสู้เชื้อโรคได้ค่ะ
  2. หากลูกดื่มนมผสม ให้ชงนมสัดส่วนเท่าเดิม เพิ่มจำนวนมื้อนมให้ถี่ขึ้น แต่ปริมาณดื่มแต่ละมื้อน้อยลงเพื่อให้ลูกยังได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
  3. ลูกที่ดื่มนมผสม หากอาการถ่ายไม่ดีขึ้นหลัง 3 วัน อาจเปลี่ยนเป็นนมที่ปราศจากน้ำตาลแล็กโตส เนื่องจากช่วงท้องเสียเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็กส่วนที่ผลิตเอ็นไซม์แลคเตสจะถูกทำลาย โดยให้ดื่มต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากร่างกายสร้างเซลล์เยื่อบุลำไส้ขึ้นใหม่ทดแทนแล้วค่อยกลับมาดื่มนมปกติค่ะ
  4. ลูกที่เริ่มกินอาหารเสริมในบางมื้อแล้ว ควรให้กินอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย โดยแต่ละมื้อควรป้อนทีละน้อย เพื่อให้ลำไส้ลูกค่อยๆ ย่อยและดูดซึมสารอาหาร นอกจากนี้ควรงดน้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากไปก่อนนะคะ
  5. ให้ลูกจิบน้ำเกลือแร่โออาร์เอสบ่อยๆ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายเสียไปค่ะ
  6. ไม่ควรให้ลูกกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในลำไส้ไม่ถูกขับออกมา และอาจทำให้เชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ค่ะ
 

มาป้องกันลูกท้องเสียกันแต่เนิ่นๆ กันเถอะ

  • คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และต่อเนื่องให้นานที่สุด เพราะนมแม่ปลอดภัยและเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคต่างๆ ให้ลูกได้
  • ควรทำความสะอาดขวดนม จุกนม และของใช้ลูกทุกชนิดให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดหรือสะสมอยู่
  • ควรทำอาหารแบบปรุงสุกใหม่ ไม่ควรให้ลูกกินอาหารค้างคืนหรืออาหารแช่เย็น
  • ควรล้างมือลูกให้สะอาดเสมอ เช่น ก่อนกินข้าว หลังเข้าห้องน้ำ และควรสอนให้ลูกล้างมือ ดูแลความสะอาดด้วยตัวเองค่ะ


เห็นไหมคะว่าอาการท้องเสียงของลูกไม่ใช้เรื่องเล็ก ๆ เลย ดังนั้นคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ของลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะลูก ๆ ในวัยทารกที่ต้องยิ่งใส่ใจเป็นพิเศษ คุณแม่สามารถดูวิธีการประเมินอาการท้องเสียของทารก คลิก เพื่อเข้าใจอาการต่าง ๆ และแนวทางในการดูแลทารกท้องเสียทั้งก่อนและหลังได้อย่างถูกต้องค่ะ