Sort by
Sort by

เปิดเทอมใหม่ หัวใจ(แม่)ว้าวุ่น...เมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน

เปิดเทอมใหม่ หัวใจ(แม่)ว้าวุ่น...เมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน

 

ลูกบ้านไหนแผลงฤทธิ์ไม่ยอมไปโรงเรียน เขาอาจกำลังเป็นโรคหวาดกลัวโรงเรียนอยู่ก็เป็นได้

 

เปิดเทอมวันแรก เจ้าตัวแสบอาละวาดบ้านแทบแตกเชียวค่ะ เกรี้ยวกราด ร้องไห้ โวยวาย งอแง ไม่ยอมลุกจากเตียง พ่ออุ้มก็แล้ว แม่ปลอบก็แล้ว ยังยืนกรานจะไม่ไปไหนทั้งนั้น ปกติแล้วเด็ก ๆ มักจะร้องไห้ตอนไปโรงเรียนแค่ 1-3 หนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นวันเว้นวัน ขาดเรียนบ่อยมาก ต้องลองสังเกตพฤติกรรมแล้วล่ะค่ะ

พ่อแม่บางคนปกป้องลูก แสดงความรักต่อลูกมากจนเปี่ยมล้น ทำให้ลูกขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่สามารถรับมือกับชีวิตในโรงเรียนได้ ยิ่งเด็กที่ไม่มีพี่น้อง เด็กต้องที่เข้าโรงเรียนตั้งแต่ยังเล็ก รวมถึงเด็กที่มีโรคประจำตัว จะพบว่าเป็นโรคหวาดกลัวโรงเรียนกันเยอะมาก อาการที่แสดงออกมามีหลายแบบ เช่น

  • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย หรืออาการปวดหัวที่ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน
  • ยืนร้องไห้ อาละวาด หวาดกลัว เวลาต้องแยกจากพ่อแม่หรือพี่เลี้ยง
  • กลัวความมืด กลัวการอยู่ในห้องคนเดียว
  • มีปัญหาเวลาเข้านอน ฝันร้ายบ่อย ๆ
  • ชอบเล่าเรื่องเกินจริง เช่น มีสัตว์ประหลาดในโรงเรียน
  • ระแวงเรื่องความปลอดภัยของตัวเองหรือคนอื่น ๆ

 

เวลาที่ลูกอยู่ในโรงเรียน พ่อแม่ต้องพยายามแลกเปลี่ยนข้อมูลกับครูและครูก็ต้องสังเกตเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยกันค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการไม่ยอมไปโรงเรียนค่ะ หากพบพฤติกรรมหรืออาการหลายข้อต่อไปนี้ อาจต้องพาไปพบแพทย์นะคะ

  • กลัวการวิจารณ์ การเผชิญหน้า การลงโทษ
  • มีปัญหาในการเรียนรู้ เช่น กลัวที่จะต้องอ่านออกเสียง กลัวถูกเรียกให้ตอบคำถามหรือขึ้นเวที กลัวทำคะแนนสอบได้ไม่ดี
  • อ่อนไหวกับกิจกรรม เช่น การร้องเพลง การเล่นเกม การชุมนุม กินข้าวในโรงอาหาร หรือการแสดงออกหน้าชั้นเรียนต่อหน้าเพื่อน
  • กลัวโดนล้อเรื่องเสื้อผ้า น้ำหนัก ความสูง ฯลฯ
  • กลัวตกเป็นเหยื่อ หรือถูกข่มขู่ระหว่างทางไปโรงเรียน หรือบนรถโรงเรียน และพบบาดแผลตามร่างกาย
  • มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับโรงเรียนใหม่

 

มาวางแผนเอาชนะโรคหวาดกลัวโรงเรียนของลูกกันเถอะ

  • พาไปตรวจร่างกาย ตรวจโรคประจำตัว และปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • เปิดใจรับฟังทุกเรื่องที่ลูกบอกเล่า ประสบการณ์ขณะอยู่ในโรงเรียน และคอยเป็นกำลังใจให้ลูก
  • พูดคุยกับครูประจำชั้นและนักจิตวิทยาโรงเรียน เพื่อร่วมกันตรวจสอบสาเหตุและทางแก้ไข
  • พยามยามปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่โรงเรียนและที่บ้านเพื่อช่วยให้เด็กปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้ดีขึ้น
  • พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน
  • หาข้อมูลเกี่ยวกับการกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกของความรู้สึก และทักษะการเผชิญปัญหา
  • เปิดโอกาสให้ลูกไปเที่ยวกับเพื่อน เพื่อปรับตัวและส่งเสริมมิตรภาพ
  • พยายามกอด ใช้คำพูดเชิงบวก เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกทุกครั้งระหว่างเดินทางไปโรงเรียน
  • สอนเทคนิคที่ช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย เช่น นับ 1-10 การสูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ

นอกจากเสริมเกราะให้จิตใจแข็งแกร่งแล้ว ต้องเตรียมร่างกายแข็งแรงพร้อมเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่โรงเรียนด้วยนะคะ ง่าย ๆ แค่จัดอาหารเช้าที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และให้ลูกดื่มผลิตภัณฑ์นมที่มีส่วนผสมของโอเมก้า 3 ,6,9  ดีเอชเอ เออาร์เอ ธาตุเหล็ก เพราะจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของสมองและความพร้อมทางจิตใจ โดยเฉพาะในเรื่องของความเชื่อมั่นและความคิดเชิงบวกของลูก แล้วเขาจะสนุกกับชีวิตในโรงเรียนมากขึ้นค่ะ