Sort by
Sort by

เช็คด่วน!! แม่ท้องน้ำหนักพุ่ง เสี่ยงทั้งแม่และเจ้าตัวเล็ก

เช็คด่วน!! แม่ท้องน้ำหนักพุ่ง เสี่ยงทั้งแม่และเจ้าตัวเล็ก

รู้หรือไม่ว่า น้ำหนักตัวที่มากเกินเกณฑ์ของแม่ตั้งครรภ์ นำอันตรายมายังลูกน้อยโดยไม่รู้ตัว

 

ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงสำคัญสำหรับคุณแม่และเจ้าตัวเล็ก คุณแม่อาจแพ้ท้องมากจนทานอาหารไม่ค่อยได้ ทารกในครรภ์เองก็ยังเติบโตช้า น้ำหนักตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์จึงไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สอง อาการแพ้ท้องหายไป คุณแม่ทานอาหารได้มากขึ้น จนอาจเผลอทำให้น้ำหนักตัวพุ่งพรวดเกินเกณฑ์ที่เหมาะสมได้

ยิ่งน้ำหนักมาก ยิ่งอันตราย!!

 

คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมากมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์สูง ร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง มีผลข้างเคียงคือทำให้เหนื่อยง่าย ปวดหลังมากขึ้น มีเส้นเลือดขอดปูดโปน และคลอดลำบากเพราะทารกตัวโต อีกทั้งยังอาจทำให้แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้ง่าย

แม่ท้อง ควรหนักเท่าไรจึงจะปลอดภัย?

น้ำหนักที่เหมาะสมของคุณแม่ท้อง คำนวณจากดัชนีมวลกาย คือ น้ำหนักตัวคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์ หารด้วยส่วนสูง (เมตร2) แล้วนำค่าที่ได้มาพิจารณาร่วมกับตารางอัตราการเพิ่มน้ำหนักของคุณแม่ในแต่ละไตรมาส ดังนี้ค่ะ

  น้ำหนักน้อย น้ำหนักปกติ น้ำหนักเกิน อ้วน
ค่าดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ (กิโลกรัม/เมตร2) <18.5 18.5-22.9 23.0-29.9 ≥30
อัตราการเพิ่มน้ำหนักในไตรมาสที่ 2 และ 3 (กรัม/สัปดาห์) 440-580 350-500 230-330 170-270
อัตราการเพิ่มน้ำหนักในไตรมาสที่ 2 และ 3 (กิโลกรัม/เดือน) 1.8-2.3 1.4-2.0 0.9-1.3 0.6-1.1
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ (กิโลกรัม) 12.5-18.0 11.5-16.0 7.0-11.5 5.0-9.0

 

การดูแลตัวเองของคุณแม่ท้องมีความสำคัญมาก เพราะการควบคุมอาหารและเฝ้าสังเกตการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวที่ดี ช่วยป้องกันไม่ให้มีภาวะอ้วนหลังคลอด โดยมีการเลือกทานอาหารที่เหมาะสมดังนี้ค่ะ

 
  • ทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ 4 – 5 มื้อต่อวัน พยายามเคี้ยวอาหารให้ละเอียดทุกครั้ง ช่วยให้ระบบย่อยไม่ทำงานหนักจนเกินไป
  • เปลี่ยนมาทานคาร์โบไฮเดรตประเภทขัดสีน้อย อย่าง ข้าวกล้อง ซีเรียลโฮลเกรน แทนแป้ง หรือน้ำตาล ลดอาหารประเภทไขมันและของทอด หันมาปรุงอาหารด้วยวิธีต้ม ย่าง นึ่ง ยำ อบ ตุ๋น ควนทานผักผลไม้ให้ได้วันละประมาณ 300 กรัม ใยอาหารจากผักจะช่วยให้อิ่มท้องนานขึ้นอีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ชา ขนมหวานต่าง ๆ หันมาทานผลไม้ที่มีรสหวานน้อย อาทิ ส้ม แอปเปิล สาลี่ ฝรั่ง แก้วมังกร วันละ 2 – 3 ลูก และดื่มน้ำเปล่าบ่อย ๆ
  • ลด ละ เลิก อาหารสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ ของกินเล่นที่มีน้ำตาลและโซเดียมสูง เลือกทานของว่างที่มีประโยชน์อย่าง โยเกิร์ต ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ และดื่มนมไขมันต่ำสำหรับหญิงมีครรภ์ วันละ 1 – 2 แก้ว

เมื่อคุณแม่สามารถควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากจะลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานแล้ว ลูกน้อยในครรภ์ก็มีสุขภาพแข็งแรงและมีพัฒนาการที่ดีเยี่ยมค่ะ