Sort by
Sort by

อ่านด่วน!! แม่ท้องต้องรู้ โภชนาการและข้อห้ามสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อ่านด่วน!! แม่ท้องต้องรู้ โภชนาการและข้อห้ามสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เสริมสารอาหารตัวไหน ห้ามทานอะไร ไปดูกัน!!

 

เมื่อคุณหมอแจ้งข่าวดีว่าได้เลื่อนสถานะเป็นคุณแม่แล้ว สาว ๆ ที่เคยแต่ดูแลตัวเองเรื่องความสวยงามเพียงอย่างเดียว ก็ต้องหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้นเพื่อสมาชิกคนใหม่ของบ้าน แต่จะดูแลตัวเองอย่างไร ทานอะไรได้บ้าง และมีข้อห้ามอะไรในระหว่าง 9 เดือนที่ตั้งครรภ์ นายแพทย์ นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข มีคำแนะนำ ดังนี้ค่ะ

การเตรียมความพร้อมด้านโภชนาการก่อนตั้งครรภ์

การเตรียมความพร้อมทางด้านสารอาหารมีความสำคัญอย่างยิ่ง จำเป็นต้องมีการเสริมสารอาหารบางชนิดตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันโรคบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เช่น โรคความผิดปกติของระบบประสาท สมอง และไขสันหลังของทารกในครรภ์ ที่เรียกว่า Neural tube defect (NTD) ซึ่งเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยการได้รับสารโฟลิก หรือ โฟเลตให้เพียงพอ (4 - 5 มิลลิกรัมต่อวัน) จากยา หรือนมที่มีโฟเลตสูง ในช่วง 1 - 3 เดือนแรกก่อนการตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์แล้ว แพทย์จะให้ทานโฟเลตต่อเนื่อง

 

การเตรียมความพร้อมด้านโภชนาการระหว่างการตั้งครรภ์

เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 แพทย์มักจะเปลี่ยนมาให้ยาอีก 2 อย่าง คือ ธาตุเหล็ก และแคลเซียม โดยโฟลิกอาจจะหยุดไม่ต้องทานต่อก็ได้ เพราะส่วนใหญ่ของยาธาตุเหล็กมักมีโฟลิกผสมอยู่ด้วยแล้ว

  • ธาตุเหล็ก ลูกจะนำไปใช้ในการสร้างเม็ดเลือด และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะโลหิตจางในแม่ การทานยาธาตุเหล็กอาจมีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมได้ ถ้าเป็นจากอาการแพ้ท้องควรหยุดยาไว้ก่อน รอให้อาการดีขึ้นก่อน ค่อยกลับมาทานยาต่อ แต่ถ้าเป็นจากกลิ่นหรือรสชาติของยา อาจพิจารณาใช้ยาในกลุ่มที่เป็นเม็ดเคลือบน้ำตาล หรือเป็นแคปซูลก็จะทานได้ง่ายขึ้น ธาตุเหล็กจะดูดซึมได้ดีช่วงท้องว่าง แต่การทานยาช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้มาก ถ้ามีอาการดังกล่าว ให้ทานยาในช่วง 1 - 2 ชั่วโมง หลังอาหาร และพึงระลึกไว้เสมอว่าการทานยาธาตุเหล็กเวลาถ่ายอุจจาระจะมีสีดำคล้ำ ไม่ต้องตกใจ เป็นสีของธาตุเหล็กที่ถูกขับออกมา
  • แคลเซียม ลูกจะนำไปใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต นอกจากนี้แคลเซียมมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในมารดาที่มีความเสี่ยงสูง แคลเซียมมีอยู่มากในนม ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยที่ทานได้ทั้งตัว ปัจจุบันไม่แนะนำให้ทานนมเป็นลิตร ๆ เหมือนในสมัยก่อน คนท้องต้องการแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน อาหารที่ทานในแต่ละวันของคนไทย ได้รับแคลเซียมไม่ถึง 500 มิลลิกรัม ดังนั้นจึงต้องหาแหล่งแคลเซียมมาเสริม ที่ง่ายที่สุดคือ นม เพราะในนม 1 ซีซี ให้แคลเซียม 1 มิลลิกรัม การทานนม 1 กล่อง 250 ซีซี มีปริมาณแคลเซียม 250 มิลลิกรัม ต้องทานประมาณ วันละ 3 - 4 กล่อง 750 - 1,000 ซีซี หรือ 1 ลิตร สมัยก่อนคนไข้จึงได้รับคำแนะนำให้ทานนมเป็นลิตร ๆ แต่ปัจจุบันจากหลักฐานงานวิจัยพบว่า แม่ที่ทานนมวัวมากขนาดนี้ มีโอกาสที่ทารกในครรภ์จะเกิดภาวะภูมิแพ้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น อาการหลักของภูมิแพ้ ได้แก่ การแพ้นมวัว แพ้อาหาร ผื่นแพ้ผิวหนัง แพ้อากาศ จนถึงอาการหอบหืด ตลอดจนอาการรองของโรคภูมิแพ้ เช่น ลมพิษ แพ้อาหาร แพ้ยา เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นว่าในปัจจุบันแพทย์จึงไม่ได้แนะนำให้ทานนมมากเกิน 500 ซีซีต่อวัน ทั้งนมวัวและนมถั่วเหลือง และเติมแคลเซียมที่ต้องการเป็นรูปแบบแคลเซียมเม็ด หรือแบบละลายน้ำแทน
  • พลังงาน หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับในแต่ละวันประมาณวันละ 30 - 35 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัมต่อวัน โดยเฉลี่ยหญิงตั้งครรภ์ที่น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัมจะอยู่ที่ 1,500 – 1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน ส่วนที่กินเพิ่มที่จะส่งให้ลูกอีก 300 กิโลแคลอรีในครรภ์เดี่ยว และ 600 กิโลแคลอรี ในครรภ์แฝด
  • สารอาหาร แนะนำว่าควรได้รับครบ 5 หมู่ คือ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และเกลือแร่ โดยเน้นกลุ่มผักผลไม้ที่มีกากและเส้นใยอาหารสูง เพื่อการขับถ่ายที่ดี เพราะคนท้องจะมีอาการท้องผูกได้ง่าย งดอาหารที่มีรสหวานจัด ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สำหรับบางคนที่ทานอาหารมังสวิรัติที่ไม่มีเนื้อสัตว์เลยนั้นอาจได้รับกรดอะมิโนที่จำเป็น และสารอาหารอื่นๆ เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 วิตามินดี แคลเซียม และไขมันบางชนิดไม่เพียงพอ แก้ไขได้โดยการรับประทานผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง หรือเพิ่มการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม หรือไข่

4 อาหารควรระวังและหลีกเลี่ยง

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าทานเป็นประจำ อาจส่งผลต่อความพิการของลูกในครรภ์ได้ (Fetal alcoholic syndrome)
  • อาหาร ผักผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่สะอาด สุก ๆ ดิบ ๆ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย และการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคในหญิงตั้งครรภ์จะลดต่ำลงกว่าคนปกติ จึงติดเชื้อได้ง่ายกว่าและอาการรุนแรงมากกว่า ถ้าเป็นมากอาจส่งผลต่อสุขภาพของลูกในครรภ์ได้เช่นกัน
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แม้ว่าจะมีงานวิจัยพบว่าการดื่มกาแฟในปริมาณน้อยหรือประมาณไม่เกิน 2 ถ้วยต่อวัน ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามแนะนำให้งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ไปก่อนดีที่สุด
  • ยาบำรุงครรภ์ต่าง ๆ ควรใช้เท่าที่จำเป็นตามที่แพทย์แนะนำ ยาอื่น ๆ เช่น น้ำมันปลา โปรตีนรวมต่าง ๆ ตลอดจนพวกวิตามินรวมต่าง ๆ เพียงพอจากอาหารที่กินตามปกติ ถ้าไม่ได้เป็นมังสวิรัติ หรือกลุ่มทานอาหารเจเป็นประจำ นอกจากนี้การที่ได้รับวิตามินบางชนิดที่มากเกินไป เช่น วิตามินเอ ที่มากกว่า 10,000 IU ต่อวันนั้นมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้โดยเฉพาะช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
 

ทราบดังนี้แล้ว คุณแม่ควรหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น บำรุงร่างกายด้วย นม หรืออาหารอื่น ๆ ตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของคุณแม่และเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลกในเวลาอันใกล้นี้นะคะ