Sort by
Sort by

ลูกอมข้าว วีรกรรมสุดแสบบนโต๊ะอาหารของเจ้าตัวเล็ก รับมือยังไงดี!!

ลูกอมข้าว วีรกรรมสุดแสบบนโต๊ะอาหารของเจ้าตัวเล็ก รับมือยังไงดี!!

 

ศึกไหน ๆ ก็ไม่น่าหนักใจเท่า “ลูกอมข้าว” เรื่องราวน่าปวดหัวที่ต้องใช้ “ความเข้าใจ” เข้าสู้

 

การรบรากับเจ้าตัวเล็กแต่ละมื้อ ก็ไม่ต่างกับการขึ้นชกมวยในแต่ละยก เพราะการจะเคี่ยวเข็ญให้ลูกกินข้าวหมดจาน ทานอาหารโดยไม่ติดเล่น เป็นเรื่องที่คุณแม่หลาย ๆ บ้านท้อใจจนยกธงขาวมานักต่อนัก

ยกแรก มื้อเช้า...อมข้าวนาน 15 นาที สถิติดีแต่เช้าเชียวนะลูก!!

ยกสอง มื้อกลางวัน...ข้าวผัดคำที่สาม คาในช้อนน๊าน...นาน ตักเข้าปากได้มั้ย พรีส!!!

ยกสาม มื้อเย็น...ข้าวไก่ทอด นอนนิ่งในจานจนเย็นเยียบ คุณแม่ที่พ่วงตำแหน่งแม่ครัวและคนป้อนทั้งขู่ทั้งเชียร์จนเพลียใจ

ลูกอมข้าว ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก!!

 

ลูกอมข้าว ปัญหาสุดคลาสสิกที่คุณแม่ต้องงัดกลยุทธเด็ดออกมารับมือวันละ 3 เวลา ปัญหานี้มักเกิดกับเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนมาทานข้าวเป็นมื้อหลักแทนการทานนม โดยการที่เด็ก ๆ ใช้เวลาในการทานข้าวแต่ละคำนานมาก เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ไม่หิว เรียกร้องความสนใจ หรือบรรยากาศการทานข้าวน่าเบื่อจนทำให้ไม่อยากกินอาหาร เป็นต้น โดยผลข้างเคียงของการอมข้าวเป็นเวลานาน นอกจากจะสร้างความหนักใจให้คุณแม่อย่างเรา ๆ แล้ว เด็ก ๆ ยังมีโอกาสเป็นโรคฟันผุ หรือติดนิสัยการกินผิด ๆ ไปจนโตอีกด้วย

ไม้อ่อน + ไม้แข็ง กลยุทธหยุดอมข้าวของเจ้าตัวเล็ก

 

  • กฏต้องเป็นกฏ นั่งจับเข่าคุยกับลูกให้เข้าใจไปเลยว่าหากหมดเวลาทานอาหารแล้วลูกยังทานไม่หมด แม่จะเก็บจานทันที เมื่อคุณแม่ลงมือทำจริง ๆ บ่อยครั้งเข้า เด็ก ๆ จะเรียนรู้ว่าหากทานข้าวน้อย หรือทานไม่ทันเวลา จะต้องทนหิวไปจนกว่าจะถึงมื้อถัดไป ทั้งนี้คุณแม่เองก็ห้ามใจอ่อนด้วยการแอบเตรียมของว่างระหว่างมื้อให้ลูกทาน เพราะเมื่อรู้ว่าเดี๋ยวก็มีขนมให้ทาน การทานข้าวให้หมดจานจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป
  • กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากการหมั่นให้กำลังใจลูกเมื่อทานข้าวหมดจานหรือเลิกอมข้าวแล้ว คุณแม่ควรสร้างบรรยากาศที่ดีบนโต๊ะอาหารร่วมด้วย โดยอาจใช้การเล่านิทานน่ารัก ๆ ที่มีคำสอนเกี่ยวกับการทานข้าวไม่หมดจานมาสอนเด็ก ๆ ในระหว่างมื้อหรือเมื่อเห็นว่ามีแนวโน้มจะอมข้าว

หัวใจสำคัญในการมีชัยใน “ศึกอมข้าว” คือคุณแม่ต้องใจแข็ง ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจพฤติกรรมของลูกควบคู่กันไป เพื่อสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างถูกวิธีและไม่สร้างความกดดันให้กับลูกรักจนลุกลามกลายเป็นความเครียดสะสมนะคะ