Sort by
Sort by

ลดเค็ม ละมัน เลิกหวาน คาถาป้องกัน “โรคอ้วน”

ลดเค็ม ละมัน เลิกหวาน คาถาป้องกัน “โรคอ้วน”

 

โรคอ้วน จุดเริ่มต้นของสารพัดโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับต้น ๆ

 

คนไทยจำนวนมากคิดว่า “อ้วน” ไม่ใช่โรค แต่หารู้ไม่ว่าความอ้วนนี่แหละคือต้นกำเนิดของสารพัดโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยไปเป็นจำนวนมาก เรามาทำความรู้จักกับ “โรคอ้วน” และสาเหตุที่ทำให้ความอ้วนกลายเป็นปัญหาสุขภาพระดับชาติ จากบทความน่ารู้ของ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ กันค่ะ

อ้วน คือ ภาวะร่างกายที่มีไขมันสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง หลอดเลือด พุง และตับ นำพาไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด อัมพาต อัมพฤกษ์ สารพัดโรคที่เราเรียกติดตลกว่า "อ้วนนำไปสู่โรคเบาหวานและคณะ" ความอ้วนเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ต้นเหตุที่สำคัญที่สุดเกิดจากพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการกินอาหารประเภทหวาน มัน เค็มเป็นประจำ

สถิติอ้วนในคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ในรอบไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สูงขึ้นคู่ขนานไปกับโรคที่เกิดจากโรคอ้วนหรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นต้นเหตุในลำดับต้น ๆ ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตและเจ็บป่วย และยังสร้างความสูญเสียต่อภาวะเศรษฐกิจของชาติ เพราะต้นทุนการรักษาโรคนี้สูงลิบลิ่ว

ประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะออกมารณรงค์ให้คนไทยตระหนักและเห็นภัยร้ายของความอ้วนที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เหตุนี้แหละที่ทำให้คนไทยส่วนมากมองเห็นคนอ้วนเป็นเรื่องธรรมดา จนเกิดความเคยชินว่าอ้วนไม่ใช่ภัยร้าย อ้วนไม่ใช่โรค อ้วนคือคนอวบ ตัวใหญ่ ใคร ๆ ก็อ้วนทำไมเราจะอ้วนไม่ได้ ความคิดเหล่านี้อันตราย ในที่สุดขืนปล่อยให้คนไทยมองภาพคนอ้วนเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ตามมาในอนาคตอันไม่ไกลนักคือภาพลักษณ์ของไทยคือคนที่อ้วน เหมือนที่เรามองคนอเมริกาและคนยุโรปในขณะนี้

 

"กินหวานทำไมจึงอ้วน?" เป็นคำถามที่ทุกคนต้องหาคำตอบ หวานคือรสชาติของน้ำตาล ซึ่งจัดอยู่ในอาหารที่ให้พลังงานสูญเปล่า หมายถึงกินน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย ถ้ากินมากจนล้นเกิน ร่างกายใช้ไม่หมด ร่างกายมหัศจรรย์มาก สามารถเปลี่ยนน้ำตาลเม็ดขาว ๆ นี่แหละเป็นไขมันได้ภายในครึ่งชั่วโมง เก็บสะสมไว้ที่ตับที่พุง หลอดเลือดอุดตัน สารพันโรคก็ตามมา

คนกินหวานมักไม่รู้ว่าตัวเองติดหวาน เพราะส่วนมากติดมาตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้น การป้องกันการติดหวานที่ได้ผลมากที่สุดคือ ต้องเริ่มฝึกนิสัยการกิน ไม่ให้ติดหวานมาตั้งแต่ทารกและเด็กเล็ก โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้กินอาหารตามวัยทั้งอาหารหลักและอาหารว่างที่ไม่หวาน พอผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่คนเหล่านั้นจะเป็นคนไม่ติดหวาน แต่ถ้าติดหวานมาตั้งแต่เด็กแล้ว ต้องการลดการกินหวานลง ก็ทำได้ไม่ยากหากเราเอาจริง เพียงแต่ต้องเริ่มด้วยการสร้างจิตสำนึกให้ตัวเองตลอดเวลาว่ากินหวานจัด จะนำไปสู่ความอ้วนอันตราย แล้วเริ่มฝึกนิสัยทีละเล็กทีละน้อย อย่าหักดิบ เช่น เคยเติมน้ำตาลลงในกาแฟครั้งละ 3 ช้อนชา ก็ค่อย ๆ ลดลงให้เหลือ 1 ช้อนชา หรือกินกาแฟดำ หรือจากที่เคยกินน้ำหวานคนเดียวหนึ่งขวด ต่อไปนี้แบ่งเพื่อนกินคนละครึ่งขวด ในที่สุดเลิกกินไปเลย กินอาหารที่มีรสหวานในปริมาณที่น้อยลง เช่น แต่ก่อนเคยกินเค้กชิ้นโต ต่อมาค่อย ๆ ลดเป็นชิ้นเล็กและบางลงเรื่อย ๆ เป็นต้น

 

การกินมัน ๆ แล้วอ้วนคงไม่มีใครสงสัย เพราะตรงไปตรงมา อาหารมัน ๆ ที่ทำให้คนไทยอ้วนส่วนมากเป็นอาหารประเภททอด ๆ ผัด ๆ กะทิ และเนื้อสัตว์ติดมัน ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ โดยเฉพาะอาหารประเภททอดและผัดซึ่งเป็นวิถีการกินของคนไทยยุคเร่งรีบที่ต้องปรุงอาหารที่ง่าย ๆ รวดเร็วอย่างเช่นการทอดน้ำมันลอย เช่น ไก่ทอด หมูทอด ปาท่องโก๋ และสารพัดของทอด ยิ่งกินอาหารประเภทผัด ๆ ร่วมด้วยยิ่งทำให้ร่างกายได้รับไขมันส่วนเกินมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการกินข้าวและอาหารประเภทแป้งมากจึงทำให้ซ้ำเติมให้อ้วนเข้าไปกันใหญ่ อาหารประเภทต้ม แกง น้ำพริก ยำ ย่าง ที่มีไขมันต่ำและอุดมด้วยผักเริ่มกินน้อยลง ดังนั้น อาหารทอด ๆ ผัด ๆ จึงกลับกลายเป็นอาหารประจำวันของคนไทย จึงทำให้คนไทยมีโอกาสได้รับไขมัน จากอาหารมากขึ้น ทางออกคือต้องฝึกนิสัยการกินของตัวเองและคนในครอบครัวเสียใหม่ ค่อย ๆ เปลี่ยนเมนูประเภทผัดทอดมาเป็นเมนู ต้ม แกง ยำ น้ำพริก ให้บ่อยขึ้น

 

ส่วนอาหารรสเค็มไม่ได้ทำให้อ้วน แต่ถ้ากินเค็มจัดจะมีผลเสียต่อสุขภาพร้ายแรงพอ ๆ กับการกินหวานและมัน เพราะการกินเค็มคือการนำเอาโซเดียมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และโรคไต คนที่กินเค็มมักไม่ค่อยรู้ตัว แต่ถ้าไปกินอาหารรสปกติแล้วบอกว่ารสจืด คุณคือคนกินเค็ม การฝึกให้ตนเองลดการกินเค็มต้องใส่ใจที่จะทำให้ได้ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ถนอมอาหารด้วยเกลือ เช่น อาหารหมักดอง ปลาเค็ม ปลาร้า กะปิ น้ำบูดู เต้าหู้ยี้ หน่อไม้ดอง อาหารกระป๋อง อาหารดังกล่าวไม่ควรกินบ่อย และควรชิมอาหารทุกครั้งก่อนปรุงด้วยน้ำปลาโดยเฉพาะการกินก๋วยเตี๋ยว นอกจากนี้ อาหารที่ไม่มีรสเค็มแต่มีโซเดียมแฝงมา ได้แก่ ผงชูรส ผงฟูที่อยู่ในอาหารประเภทเบเกอรี ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีผงชูรส ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ ต้นเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าวคือ พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการกินอาหารรสหวานมันเค็ม และขาดการเคลื่อนไหวทางกาย การป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวจึงต้องไปแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและออกกำลังกาย

เคล็ดลับลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน

กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และอดใจลดกินหวาน มัน เค็มให้ได้ เติมเต็มด้วยผักผลไม้ ใส่ใจออกกำลังกาย ทำได้ตามนี้ รับประกันว่า ห่างไกล “โรคเบาหวานและคณะ" แน่นอน