Sort by
Sort by

ปรับลูกกินยาก ด้วยเทคนิครู้ลูกรู้เรา เสิร์ฟกี่จานหมดทุกจาน

ปรับลูกกินยาก ด้วยเทคนิครู้ลูกรู้เรา เสิร์ฟกี่จานหมดทุกจาน

 

ปัญหาลูกกินยากจะหมดไปถ้าคุณแม่รู้สาเหตุ และวิธีพิชิตใจลูก ด้วยเทคนิคง่ายๆ เพียงแค่พลิกเมนูนิดเดียวเท่านั้นค่ะ


ตอนลูกยังเป็นเบบี้ ป้อนอะไรลูกก็กินหมดจนแม่ชื่นใจสุดๆ แต่พอโตก็เริ่มกินยาก เลือกกินมากขึ้นทุกวัน ตอนนี้บางมื้อของลูกเป็นเหมือนหนังสงครามเลยใช่ไหมคะ กว่าจะยอมกินได้แต่ละคำ สู้กันจนเหนื่อย!

การกินอาหารของลูกวัย 1-3 ปี เป็นการเรียนรู้ใหม่เลยนะคะ เขาจะมองว่าพ่อแม่กินอะไร ใช้มือหยิบหยิบเข้าปาก ลองกัดรับรสชาติ บางคนก็เน้นสัมผัสด้วยการละเลงอาหารบนโต๊ะ เมื่อชิมแล้ว เด็กบางคนอาจแสดงอาการไม่ชอบอย่างชัดเจน  เช่น ถ้าเห็นอยู่ในชามที่แม่ป้อนก็จะเบี่ยงหลบ ลูกเลือกกิน กินยาก สังเกตได้จากอาการแบบนี้ค่ะ

  1. เซย์ โน! ในทุกๆ อาการ เช่น ร้องว่าไม่ หันหน้าหลบตลอด ส่ายหน้า ใช้มือปัด เม้มปากเน้น ร้องงอแง หรือบางคนอาจจะเข้าปากไปแล้วค่อยคายออกมา
  2. หยิบ เล่น ละเลงบนโต๊ะ หยิบใส่จานพ่อแม่
  3. ลูกติดอาหารบางอย่าง กินซ้ำๆ เดิมๆ เรียกร้องจะกินแบบเดิมหรือของที่ชอบกินทุกมื้อ
  4. เด็กๆ บางคนเลี่ยงไม่กินด้วยการเล่น เช่น เรียกมากินข้าวไม่มา เล่นของเล่นตอนกินข้าว เล่นอาหารที่กิน เป็นต้น

ผักและเนื้อสัตว์ 2 อาหารที่ลูกไม่ค่อยชอบกิน... เพราะอะไร?

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ค่ะว่า การกินอาหารคือการเรียนรู้ใหม่ของลูก ผักต่างๆ และเนื้อสัตว์มีสัมผัสที่เคี้ยวยากกว่าอาหารบดนุ่มที่เคยกินมาก่อนหน้านี้ ผักบางชนิดมีรสขม เช่น บลอกโคลี ถั่วลันเตา แตงกวา เป็นต้น หรือ เนื้อสัตว์บางชนิดมีกลิ่นแรง เช่น ปลาหมึก ปลาโอ เป็นต้น  ซึ่งเด็กๆ จะสัมผัสรสและกลิ่นได้ไวกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงเกิดอาการต่อต้าน ไม่อยากกิน จนกลายเป็นการเลือกกินนั่นเองค่ะ


7 วิธีปรับ เปลี่ยนนิสัยลูกกินยาก เลือกกิน เป็นเจ้าหนูจอมหม่ำ

  1. ถ้าอยากให้ลูกกินผักหลากหลายมากขึ้น อาจเริ่มง่ายๆ ด้วยการหั่นผักเป็นชิ้นเล็กๆ ทำข้าวผัด ซุป หรือใส่ในไข่ตุ๋น จะช่วยกลบกลิ่นและรสผักเดิมๆ และลูกจะมีเมนูหลากหลายมากขึ้นค่ะ
  2. ถ้าอยากให้ลูกกินเนื้อสัตว์มากขึ้น อาจใช้วิธีตุ๋นให้นุ่ม หั่นชิ้นเล็กๆ เพิ่มไปในเมนูแต่ละมื้อค่ะ
  3. ให้ลูกกินอาหารเป็นเวลาและตรงเวลา จะช่วยฝึกให้ลูกรู้เวลา รู้จักอาการหิวและอิ่ม
  4. 1 ชั่วโมงก่อนอาหารมื้อหลัก ไม่ควรให้ลูกกินขนมหรือนม เพราะจะทำให้ลูกอิ่ม ไม่อยากกินอาหาร
  5. ทำให้มื้ออาหารสนุกมากขึ้นด้วยของใช้ เช่น จาน ชาม ช้อมส้อม แก้วน้ำ เป็นต้น ลองเลือกลายที่ลูกชอบ หรือเล่นเกมหาการ์ตูนที่ก้นชาม หรือใช้ช้อนน่ารักๆ จะทำให้ลูกอยากกินข้าวมากขึ้นค่ะ
  6. ไม่บังคับ เพราะอย่าลืมนะคะว่าลูกอาจเจอประสบการณ์ที่ไม่คุ้นเคยจากรสขมของผัก หรือ อาหารแข็งไปเคี้ยวไม่ได้ ถ้าเรายังบังคับ ลูกก็จะยิ่งต่อต้านและไม่กินข้าว คุณแม่ต้องหาสาเหตุและค่อยๆ ปรับเมนูให้ลูกกินได้ง่ายขึ้นค่ะ
  7. พ่อแม่ลูกควรกินข้าวพร้อมกัน นี่คือสิ่งสำคัญค่ะ เพราะถ้าพ่อแม่นั่งกินข้าวด้วย ไม่เล่นโทรศัพท์ ไม่ดูทีวี การกินข้าวด้วยกันจะทำให้รู้เรียนรู้ว่านี่คือเวลากินข้าว ได้เห็นพ่อแม่กินผักให้ดู พ่อแม่ชวนชิมอาหารใหม่ๆ ลูกก็จะสนุกกับการกินมากขึ้น และกลายเป็นกินง่ายค่ะ

ลองนำไปปรับใช้ดูนะคะคุณแม่ แรกๆ อาจจะยังทำได้ไม่ครบทุกข้อ ทำครั้งแรกยังไม่ได้ผล แต่ต้องใจเย็นและให้เวลาลูกปรับตัวไปพร้อมๆ กับที่เราพยายามปรับเมนูให้เขานั่นเองค่ะ