Sort by
Sort by

ขี้หวงหนักมาก! สอนลูกอย่างไร ไม่ให้เป็นเด็กแล้งน้ำใจ

ขี้หวงหนักมาก! สอนลูกอย่างไร ไม่ให้เป็นเด็กแล้งน้ำใจ

 

เด็กบางคนติดนิสัยขี้หวง ไม่มีน้ำใจแบ่งปัน พ่อแม่จึงต้องอาศัยหลักจิตวิทยาในการสอนลูก

 

เจ้าตัวเล็กบ้านไหนเป็นเด็กขี้หวงสุด ๆ บ้างคะ? หวงของเล่น หวงขนม หวงทู๊ก..อย่าง ไม่ยอมแบ่งให้ใครเลย นิสัยแบบนี้ต้องรีบเปลี่ยนด่วน ๆ เพราะหากเข้าโรงเรียนไปแล้ว อาจโดนรังเกียจ ไม่มีเพื่อนเล่น สุดท้ายลูกก็จะไม่มีความสุข ไม่อยากไปโรงเรียน และไม่กล้าเข้าสังคมนะคะ ปัญหานี้ นักจิตวิทยาเผยว่า สาเหตุมาจากครอบครัวเป็นหลักค่ะ บ้านไหนมีลูกคนเดียว เขาอาจไม่คุ้นเคยกับการแบ่งปันสิ่งของให้ใคร ยิ่งถ้าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย รุมเอาใจจนเด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่าย “ได้รับ” มากกว่าเป็น “ผู้ให้” เขาจะติดเป็นนิสัย และนี่ก็คือแบบฝึกหัดง่าย ๆ สอนให้เด็กรู้จักแบ่งปัน มาลองทำกันนะคะ

# ให้ในหลากหลายโอกาส

การให้มีหลายรูปแบบ ทำบุญ ทำทาน บริจาคเป็นเงินทองหรือข้าวของอุปโภคบริโภค ยกตัวอย่างใกล้ตัวเลยก็คือ วัด แต่ละแห่งจะมีจุดบริจาคสิ่งของ เพื่อส่งไปยังหน่วยงานที่ขาดแคลน หรือค่ายอาสาพัฒนาเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เวลาพ่อแม่พาลูกไปทำบุญก็ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งของเหล่านั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และลูกก็สามารถร่วมบริจาคได้ด้วยนะ

 

สาเหตุที่ลูกมีปฎิกิริยาหวงของอย่างเห็นได้ชัด เพราะเด็กยังแยกไม่ออกระหว่างอารมณ์กับเหตุผล ไม่สามารถแยกแยะการเป็นเจ้าของถาวรกับการเป็นเจ้าของชั่วคราวได้ค่ะ พ่อแม่ต้องอธิบายให้ลูกฟังอย่างละมุนละม่อม หลีกเลี่ยงการสอนว่าพี่ต้องเสียสละให้น้อง เพราะฝ่ายน้องจะกลายเป็นผู้รับจนเคยชิน ส่วนพี่ก็จะรู้สึกถูกละเมิดสิทธิ์จนไม่มีความสุขค่ะ ควรทำให้เด็กทั้งคู่ได้เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้อย่างเต็มใจ ยกตัวอย่าง เวลาไปซื้อขนมกับลูก ๆ ลองชวนคุยด้วยประโยคง่าย ๆ

“ถ้าจะแบ่งขนมชิ้นนี้ให้พี่ต้นด้วยจะต้องซื้อเพิ่มไปกี่อันดีนะ” “ไอศกรีมนี่ถ้าหนูทานคนเดียวก็จะอิ่มเกินไปทำให้ทานข้าวเย็นไม่หมดจานนะ งั้นแบ่งให้พ่อได้ไหม” สถานการณ์สมมติเหล่านี้จะช่วยให้เด็กรู้จักคิดถึงคนอื่น และลดอาการหวงของลงได้มากทีเดียวค่ะ

 

# ปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง

เด็ก ๆ จะจดจำพฤติกรรมของพ่อแม่ และนำไปปฎิบัติตามค่ะ ลองชวนเจ้าตัวเล็กเก็บข้าวของที่ไม่ใช่แล้วหรือซื้อของไปบริจาคกัน ก็จะเป็นการปลูกจิตสำนึกของการให้และการแบ่งปันได้อย่างดี หรือถ้ามีโอกาสลองพาเขาไปบ้านเด็กกำพร้า หรือบ้านพักคนชรา ให้ลูกได้เห็นว่าสิ่งของที่บริจาคไปนั้นมีค่าต่อผู้อื่นมากแค่ไหน เขาจะค่อย ๆ ซึมซับความรู้สึกของการเป็นผู้ให้ และเข้าใจถึงความสำคัญของการแบ่งปันมากขึ้น

# คำชม

เมื่อลูกเริ่มต้นแบ่งปันได้อย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการแล้ว อย่าลืมเอ่ยปากชมให้เขาเกิดความภูมิใจในการกระทำของตัวเองด้วยนะคะ คำชมเหล่านั้นจะกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เด็ก ๆ อยากแบ่งปันมากขึ้นอีกในอนาคต

ลองดูนะคะ เพราะสังคมเรา และสังคมทุกประเทศทั่วโลก ยังต้องการการแบ่งปันอยู่เสมอ