Sort by
Sort by

ใส่ใจทุกมื้อหลักของลูกน้อย

ใส่ใจทุกมื้อหลักของลูกน้อย
สำหรับคนเป็นพ่อแม่การได้เห็นลูกเติบโตสมบูรณ์ทั้งกายและใจคงเป็นสุดยอดที่พ่อแม่ทุกคนปรารถนา เราจึงทั้งสนใจและใส่ใจในรายละเอียดของทุกมื้ออาหารของลูก วันนี้เราจะมาดูกันว่าอาหารมื้อต่างๆ มีความสำคัญสำหรับเด็กๆ แตกต่างกันอย่างไรกันบ้าง

อาหารเช้า
เริ่มต้นวันใหม่ที่สดใสสำหรับเด็กด้วยอาหารเช้า ซึ่งเป็นมื้อสำคัญที่สุดของวัน เหตุผลเพราะ ช่วงเวลาที่เด็กๆนอนหลับเป็นเวลาราว 10 – 12 ชั่วโมง ร่างกายยังมีการเผาผลาญพลังงานอยู่ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เด็กๆ จึงควรรับประทานอาหารเช้า ซึ่งเป็นมื้อสำคัญที่ให้พลังงานแก่เด็กในแต่ละวัน มิฉะนั้นเด็กจะอ่อนเพลีย หงุดหงิด และหิวทำให้ความสามารถในการคิด สมาธิ และการเรียนรู้ลดลง

อาหารเช้าที่ดีควรมีคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอและสมดุล ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ อาจเลือกอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต ไข่ปรุงสุก หมูทอดรับประทานกับแป้ง เช่น ข้าวสวย ขนมปังโฮลวีท ข้าวต้ม รวมไปถึง ผลไม้สดหรือน้ำผลไม้ การจัดเตรียมเมนูอาหารเช้าควรสร้างสรรค์ให้มีความหลากหลาย สามารถช่วยกันทำในครอบครัวโดยใช้เวลาไม่มาก แต่ให้สารอาหารเพียงพอที่จะทำให้เด็กๆ มีร่างกายสดชื่น และมีพลังงานในการเรียนรู้ตลอดช่วงเช้า แต่อย่าลืมว่าคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรละเลยอาหารเช้าเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ ด้วย

อาหารกลางวัน
ถือเป็นมื้ออาหารหลักของวัน ส่วนใหญ่แล้วเด็กๆ จะรับประทานอาหารกลางวันที่ทางโรงเรียนจัดหาไว้ให้ บางโรงเรียนเด็กสามารถจัดหาซื้ออาหารเพิ่มเติมตามร้านค้าที่มีขายในบริเวณโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรสอบถามเด็กๆ ในแต่ละวันว่าทานอะไรบ้างจะได้ทราบถึงปริมาณหรือส่วนประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ในอาหาร การที่เด็กได้ทานอาหารร่วมกับเพื่อนๆ อาจทำให้เด็กเจริญอาหารขึ้น เรียนรู้นั่งทานที่โต๊ะอย่างมีระเบียบ และรู้จักมารยาทบนโต๊ะอาหารอีกด้วย สำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่สามารถชักชวนเด็กๆ มาทำอาหารกลางวันรับประทานร่วมกัน แทนที่จะรับประทานแต่อาหารนอกบ้านที่มีผงชูรส นอกจากเด็กจะเจริญอาหารขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างกิจกรรมที่มีความสุข และสนุกสนานให้เกิดขึ้นในครอบครัว

อาหารเย็น
หลายๆ ครอบครัวอาจรับประทานอาหารเช้าอย่างเร่งรีบเพื่อออกไปโรงเรียนหรือทำงาน มื้อกลางวันลูกๆ ก็รับประทานที่โรงเรียน แต่มื้อเย็นถือเป็นมื้อพื้นฐานของสังคมครอบครัว ที่สมาชิกครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้ากันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนเองในแต่ละวัน เด็กๆ ทั่วไปมักจะรับประทานอาหารมากขึ้นในมื้อเย็น การรับประทานอาหารร่วมกันยังสร้างความรู้สึกที่ดี เป็นความทรงจำอันอบอุ่นในครอบครัว เป็นการสร้างให้เด็กๆ มีทัศนคติที่ดีต่อการทานอาหาร ก่อนทานอาหารเย็นไม่ควรให้เด็กๆ ทานอาหารว่างมากเกินไป จะทำให้เด็กๆ ทานอาหารมื้อหลักได้น้อยลง

อาหารว่าง ของหวานและเครื่องดื่ม
อาหารว่าง ของหวานและเครื่องดื่ม เป็นอาหารที่ให้เด็กทานระหว่างมื้อ เสริมพลังงานให้เด็ก ควรเลือกอาหารว่างและของหวานให้เด็กอย่างระมัดระวัง อาหารว่าง ของหวานและเครื่องดื่มสำเร็จรูปที่มีขาย อาจมีส่วนผสมของแป้ง ไขมัน เกลือและน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเด็กในระยะยาว อาหารว่างที่เตรียมให้เด็ก ควรมีส่วนผสมที่มีประโยชน์ได้แก่ ถั่วประเภทต่างๆ ธัญพืช ผัก ผลไม้สด โดยอาจเตรียมใส่กล่องให้เด็กนำไปรับประทานที่โรงเรียน เช่น เค้กข้าวโอ๊ต คุกกี้อัลมอนด์ แครอตหั่นเป็นแท่ง กล้วย แอปเปิ้ล ทองม้วน นม น้ำผลไม้ ขนมปังไส้กรอก

การใส่ใจในทุกมื้ออาหารของลูกรักจากพ่อและแม่จะนำมาซึ่งการมีพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจของลูกน้อย อาจดูยุ่งยากแต่รับรองว่าเป็นความใส่ใจที่สุดแสนจะคุ้มค่า