Sort by
Sort by

ท้องนี้ (น้ำหนัก)ขึ้นเท่าไรดี

ท้องนี้ (น้ำหนัก)ขึ้นเท่าไรดี

เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ เรื่องหนึ่งที่คุณแม่กังวลคือ น้ำหนักควรขึ้นเท่าไร น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมากหรือน้อยไปอาจส่งผลถึงคุณแม่และลูกในท้อง และการที่คุณแม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวขึ้นมากกว่าเกณฑ์ที่แนะนำ จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ แต่เนื่องจากคุณแม่แต่ละคนมีโครงสร้างร่างกาย และต้นทุนน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ต่างกัน ดังนั้นการจะบอกได้ว่าท้องนี้น้ำหนักที่พอดีควรเป็นเท่าไร สามารถประเมินได้คร่าวๆ โดยใช้การคำนวณดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) คือ เอาน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง แล้วนำมาเทียบกับตาราง

 

ค่าดัชนีมวลกาย (กก./ม2)

น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้น

น้ำหนักที่ควรเพิ่มต่อสัปดาห์

คุณแม่ที่มีน้ำหนักน้อย

≤ 18.5

12 – 18 กก.

อย่างน้อย 0.5 กก.

คุณแม่ที่มีน้ำหนักได้มาตรฐาน

18.5 – 24.9

11 – 15 กก.

0.5 กก.

คุณแม่ที่มีน้ำหนักเกิน

25.0 – 29.9

7 – 11 กก.

0.3 กก.

คุณแม่ที่อ้วน

> 30.0

7 กก.

0.3 กก.

ตัวอย่างเช่น
คุณแม่สูง 160 ซม. มีน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ คือ 70 กก.
จะมีค่าดัชนีมวลกาย เท่ากับ 70 กก. / 1.6 ม. x 1.6 ม. = 27.3 กก./ม2   หรือมีน้ำหนักเกิน
ดังนั้น น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ คือ   7 - 11  กิโลกรัม

ห้ามลดน้ำหนักตอนตั้งครรภ์เด็ดขาด
ทารกในครรภ์มีการก่อร่างสร้างอวัยวะต่างๆ รวมถึงมีการสร้างเซลล์สมอง ตลอดเวลา การจำกัดอาหารหรือลดน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นอันตรายอย่างมากต่อทารกในครรภ์ และยังทำให้ขาดสารอาหารที่สำคัญไปด้วย เช่น ธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ดังนั้นคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการเลือกชนิดอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์โดยไม่ก่อให้เกิดไขมันสะสม เช่น เลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ดื่มนมที่มีโฟเลตสูงและมีดีเอชเอ เลือกกินอาหารว่างที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยการทอด เบเกอรี่ ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม และออกกำลังกายเบาๆ  อย่างสม่ำเสมอ

กินเผื่อสอง แต่ไม่ใช่ 2 เท่า
ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่บางคนบำรุงร่างกายมากจนมีน้ำหนักเพิ่มมากถึง 20-30 กิโลกรัม ซึ่งจะทำให้การลดน้ำหนักหลังคลอดทำได้ยากมาก ความจริงแล้วหญิงตั้งครรภ์มีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 300 กิโลแคลอรีต่อวันเท่านั้น หรือเทียบเท่ากับนม 1-2 แก้ว หรือของว่างที่มีประโยชน์จานเล็กๆ โดยน้ำหนักควรเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สองและสาม
เมื่อคุณแม่เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ มีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ ก็จะช่วยให้มีสุขภาพดีทั้งลูกน้อยในครรภ์และตัวคุณแม่เองค่ะ