ร่างกายจะมีการจำลองโครโมโซมขึ้น ซึ่งจะทำให้ความยาวของเทโลเมียร์หดสั้นลงไปเรื่อยๆ เมื่อเทโลเมียร์สั้นจนถึงจุดๆ หนึ่งเซลล์นั้นก็จะเสื่อมและถูกทำลายไป เมื่อเซลล์หยุดการทำงานจะเกิดการแพร่กระจายของอนุมูลอิสระ ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ที่อยู่ข้างเคียง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมหรือชราภาพของเซลล์ ประกอบกับวิถีชีวิตในปัจจุบันก็เป็นตัวเร่งกระบวนการเสื่อมสภาพให้เร็วขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ มลภาวะ ความเครียด นอนน้อย ขาดการออกกำลังกาย การใช้ชีวิตแบบเร่งรีบจนไม่มีเวลากินอาหารเช้า พักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ปัจจัยพวกนี้ล้วนแต่เร่งความเสื่อมทั้งสิ้น
ดังนั้นความยาวของเทโลเมียร์จึงบ่งบอกถึงความเสื่อมของเซลล์และเป็นตัวชี้วัดอายุร่างกายได้ คนที่มีเทโลเมียร์สั้นมากทั้งๆ ที่อายุน้อย นั่นหมายถึงว่าคนๆ นั้นแก่เร็วเกินไป และการทำงานที่ผิดปกติของเทโลเมียร์ยังมีความสัมพันธ์กับโรคบางชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวานและโรคมะเร็ง เป็นต้น
คุณอาจนึกว่าร่างกายของเรามีการแบ่งเซลล์อยู่เกือบตลอดเวลา เราคงไม่สามารถหยุดยั้งความเสื่อมและความชราได้ แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารอาหารที่อาจมีผลช่วยเพิ่มความยาวของเทโลเมียร์ ได้แก่ โฟเลต วิตามินบี12 ไนอะซิน วิตามินเอและเบต้าแคโรทีน วิตามินดี วิตามินซี วิตามินอี แมกนีเซียม สังกะสี ธาตุเหล็ก ดีเอชเอ สารโพลีฟีนอล
จากการศึกษาวิจัย พบว่าเราสามารถเพิ่มความยาวของเจ้าเทโลเมียร์ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- กินอาหารรวมถึงเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่ต่ำ ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย
- กินผักผลไม้มากๆ ควรกินให้ได้วันละ 5-7 อุ้งมือ เพื่อร่างกายจะได้รับปริมาณวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระที่มากพอ
- กินธัญพืชขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ซีเรียลโฮลเกรน
- กินถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ น้ำเต้าหู้
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิกด้วยวิธีเดินเร็วหรือชนิดที่มีความหนักระดับปานกลาง อย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 5 วัน มีการศึกษาพบว่านักกีฬาที่มีการออกกำลังกายมาโดยตลอด เทโลเมียร์จะสั้นลงช้ากว่าคนไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์เทโลเมอเรส ที่ช่วยให้เทโลเมียร์คงสภาพ นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำดูอ่อนกว่าวัย
- จัดการความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น โยคะแบบผ่อนคลาย หรือฝึกสติตามดูลมหายใจ หรือการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- พบปะพูดคุยกันในกลุ่มเพื่อน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง
จากการวิจัยพบว่าการทำอย่างนี้นาน 3 เดือน ความยาวของเทโลเมียร์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เอนไซม์เทโลเมอเรสเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ซึ่งเจ้าเอนไซม์ชนิดนี้มีหน้าที่ซ่อมแซมและเพิ่มความยาวของเทโลเมียร์ได้ นอกจากนี้ยังจะได้รับของแถม เช่น น้ำหนักตัวลดลง โคเลสเตอรอลชนิดเลวในเลือดที่สูงลดลง ความดันเลือดที่สูงลดลง น้ำตาลในเลือดลดลง อีกด้วย