Sort by
Sort by

กินตามใจ ให้สุขภาพดี ด้วยวิถี "กินอยู่อย่างสมดุล" (Balanced Diet)

Balanced Diet Tips

ใคร ๆ ก็อยากสุขภาพดี ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการสร้างสุขภาพที่ดีนั้น เกิดจากการดูแลตัวเอง และรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ แต่ในความเป็นจริง การจะควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดทุกวัน ทุกมื้อนั้นเป็นไปได้ยาก และมีน้อยคนที่สามารถทำได้ ดังนั้น การกิน "อาหารเพื่อสุขภาพ" ถูกต้องตามหลักโภชนาการในทุกๆ มื้อ จึงอาจไม่ใช่แนวทางการสร้างสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจอย่างยั่งยืนสำหรับคนทั่วไป  เนสท์เล่ จึงอยากแนะนำให้รู้จักกับแนวทางการกินอยู่อย่างสมดุล ซึ่งมีความยืดหยุ่น ปรับใช้ได้กับไลฟ์สไตล์ของทุก ๆ คน โดยกินสิ่งที่ชอบได้ แต่ต้องควบคู่ไปกับอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมดุล เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดีอย่างยั่งยืน

 

บทบาทของอาหาร ที่ไม่ใช่เพื่อการสร้างสุขภาพเพียงอย่างเดียว

คนไทยจำนวนมากเริ่มตระหนักรู้ พยายามออกกำลังกายมากขึ้น พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ดีขึ้น รวมไปถึงการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หลายคนเน้นเลือกกินเฉพาะ "อาหารเพื่อสุขภาพ" กินตามหลักโภชนาการอย่างเคร่งครัด แต่แนวทางนี้อาจไม่ใช่แนวทางที่ปฏิบัติได้อย่างยั่งยืนสำหรับใครอีกหลายๆ คน ที่อาจมีข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ ซึ่งจากผลสำรวจของคันทาร์ในปี 2022 พบว่า 91% ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการรับประทานอาหารที่ดี แต่กลับพบว่ามีเพียง 42% ที่สามารถใช้ชีวิตด้วยการกินอยู่อย่างสมดุลได้จริง โดยข้อจำกัดที่ทำให้คนไทยไม่สามารถกินอยู่อย่างสมดุลได้  ได้แก่

1.ราคา คนมักคิดว่าอาหารสุขภาพมีราคาสูง จนทำให้เกิดความสงสัยว่า มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องจ่ายเพื่ออาหารเหล่านี้  

2.ความต้องการสร้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การกินอาหารที่ชอบหรือขนมหวาน เพื่อเติมเต็มความสุข เป็นรางวัลให้ตัวเอง เยียวยาจิตใจในช่วงเครียด ๆ

3.เวลา หลายคนมักมีสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำมากมาย จึงไม่มีเวลาเตรียม หรือปรุงอาหารดี ๆ ด้วยตัวเอง และให้ความสำคัญกับอาหารเป็นรองจากเรื่องอื่น ๆ

4.พฤติกรรม เช่นเดียวกับการไม่มีเวลา หลายครั้งพฤติกรรมที่เร่งรีบของคนในปัจจุบัน ทำให้เน้นการทานอาหารที่สะดวกและรวดเร็ว เช่น ฟาสต์ฟู้ด อาหารสำเร็จรูป

5.การเข้าถึงอาหาร เพราะบางพื้นที่อาจประสบปัญหาขาดแคลน ผัก ผลไม้ ตามฤดูกาล หรือน้ำสะอาด รวมไปถึงขาดแคลนร้านค้าให้จับจ่ายซื้อสินค้าสำหรับทำอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่ตามต่างจังหวัด

 

เนสท์เล่เข้าใจถึงข้อจำกัดเหล่านี้ และเชื่อว่าอาหารมีบทบาทในชีวิตของคนเรามากกว่าเพื่อตอบสนองความต้องการด้านโภชนาการของร่างกาย  แต่ยังมีบทบาททางด้านอารมณ์และการเข้าสังคมอีกด้วย เราจึงขอแนะนำ แนวทางการกินอยู่อย่างสมดุลที่มีความยืดหยุ่นให้คนไทยยังได้กินสิ่งที่ชอบได้อย่างสมดุล พร้อม ๆ กับสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีอย่างยั่งยืน

 

ทำความรู้จัก "Balanced Diet" แนวทางการกินอยู่อย่างสมดุล เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจอย่างยั่งยืน แนวคิด “การกินอยู่อย่างสมดุล” (Balanced Diet) คือ แนวคิดในการรับประทานอาหารที่เหมาะสมทั้งประเภท และปริมาณ ให้สมดุลกับความต้องการของร่างกาย และความพอใจ เพื่อสร้างการมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจอย่างยั่งยืน ด้วยหลักการกินพอ และกินดี

1.กินพอ (RIGHT PROPORTION)

  • กินปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้ได้พลังงานที่สมดุลกับกิจกรรมในแต่ละวัน เช่น หนุ่มสาวออฟฟิศ อาจมีกิจกรรมทางกายที่ต้องขยับตัวไม่มากนัก ควรได้รับพลังงานไม่เกิน 1,800-2,000 กิโลแคลอรี หรือ กินข้าวแป้งมื้อละไม่เกิน 2 ทัพพี โดยอาจใช้เทคนิคการจัดจานแบบ 2:1:1 คือ ผัก 2 ส่วน เนื้อสัตว์ 1 ส่วน ข้าวแป้ง 1 ส่วน
  • กินหวาน มัน เค็ม ในปริมาณที่พอดี เพราะการเพิ่มรสชาติให้อาหารและเครื่องดื่ม จะช่วยเพิ่มความสุขในการกินอาหาร แต่หากใส่ในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้  จึงมีคำแนะนำในการบริโภคน้ำตาล ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา  เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา  

2. กินดี (RIGHT VARIETY)

  • กินอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ตามสัดส่วน เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ เช่น คาร์โบไฮเดรตและพลังงานจากข้าว โปรตีนเพื่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากเนื้อสัตว์และไข่ โดยใช้หลักของธงโภชนาการเพื่อจัดสัดส่วนที่เหมาะสม หรือเทคนิคการจัดจานแบบ 2:1:1 ก็ได้เช่นกัน
  • ดื่มน้ำเปล่า วันละ 8 แก้ว เพื่อรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย ระบบต่าง ๆ ทำงานได้เป็นปกติ


 

balance diet



จากหลักการ กินพอ กินดี ที่จะช่วยสนับสนุนการสร้างสุขภาพดีแบบองค์รวม ตามแนวคิด "การกินอยู่อย่างสมดุล" เชื่อว่า หลาย ๆ คนอาจไม่สามารถทำได้ในทุกมื้อหรือทุกวัน เนสท์เล่ จึงขอนำเสนอ 3 เทคนิคง่าย ๆ ที่จะเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการ "คำเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่" ด้วยการใส่ใจกับทุกคำของอาหารที่กิน โดยปรับจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ต่างกันของแต่ละคน ดังนี้

 

“บวก” อาหารเพิ่มประโยชน์ (Food Pairing)

จับคู่อาหารให้มื้อนั้น ๆ มีสารอาหารครบถ้วนยิ่งขึ้น ให้ร่างกายได้ประโยชน์จากสารอาหารที่เสริมกัน

แต่ละคนมีอาหารที่ชอบแตกต่างกัน  หากเรารู้หลักในการจับคู่อาหาร นอกจากจะช่วยให้มีความสุขกับมื้ออาหาร และของว่างได้เหมือนเดิม ยังได้รับความอร่อย ถูกใจ พร้อมกับโภชนาการที่ครบถ้วนได้ เพราะการจับคู่อาหารจะช่วยเสริมให้การทำงานของสารอาหารสำคัญจากวัตถุดิบบางชนิด เพิ่มการดูดซึมสารอาหารในร่างกายได้ดีขึ้น หรือลดการดูดซึมสารอาหารที่ควรจำกัดได้ สร้างประโยชน์ต่อสุขภาพได้มากขึ้น โดยมีหลายวิธีในการจับคู่อาหารได้ เช่น

  1. บวกจับคู่เพื่อให้ครบหมู่ เป็นการจับคู่ให้อาหารมีความหลากหลาย ไม่ทานแต่เมนูซ้ำ ๆ เป็นประจำเพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน ควรให้อาหารแต่ละมื้อมีทั้งผัก เนื้อสัตว์ และข้าวตามเทคนิค 2:1:1เช่น กาแฟมื้อเช้า จับคู่กับแซนวิชทูน่า ปลากระพงทอดน้ำปลา จับคู่กับน้ำจิ้มยำมะม่วงและข้าวกล้อง หรือข้าวผัดกะเพราหมูสับใส่ไข่ดาวคู่จับคู่กับผักเคียงอย่างแตงกวา เป็นต้น 
  2. บวกจับคู่เพื่อประโยชน์ที่เสริมกัน  สารอาหารบางอย่างเมื่อจับคู่ทานด้วยกันจะสามารถเพิ่มการดูดซึมได้มากว่าเดิม หรือช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล ไขมันที่ไม่ควรได้รับมากเกินไป เช่น
  • เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่คนไทยในช่วงอายุ 15 – 49 ปี กว่า 35% ได้รับไม่เพียงพอ การใช้เทคนิคกินอาหารที่มีธาตุเหล็กร่วมกับวิตามินซี ทำให้ธาตุเหล็กที่ดูดซึมยาก จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เช่น
  • ข้าวเหนียวหมูย่าง คู่กับผลไม้หรือน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง (ธาตุเหล็ก+ วิตามินซี)
  • แซนวิชไข่ทูน่าสเปรด คู่กับน้ำเบอร์รี่ปั่น (ธาตุเหล็ก+ วิตามินซี)
  • สเต๊กหมู หรือเนื้อ คู่กับสลัดผักและผลไม้ (ธาตุเหล็ก+ วิตามินซี)
  • เพิ่มการดูดซึมแคลเซียม โดยเฉพาะสำหรับคนไทยที่ไม่นิยมดื่มนมซึ่งเป็นแหล่งแคลเซียมที่สำคัญ การจับคู่อาหารแคลเซียมสูง เช่น นม ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ปลากรอบที่กินพร้อมกระดูก เต้าหู้อ่อน อัลมอนต์ และผักบางชนิดเช่น ตำลึง คะน้า เมื่อทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินดี เช่น เห็ด ไข่ นมที่เสริมวิตามินดี จะช่วยร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น เช่น
  • อาหารเช้าซีเรียลที่ทำจากโฮลเกรน คู่กับ นมที่เสริมวิตามินดี (แคลเซียม+วิตามินดี)
  • ยำมะม่วงปลากรอบ คู่กับไข่ต้ม  (แคลเซียม+วิตามินดี)
  • ผัดคะน้าน้ำมันหอย ใส่เห็ดหอม แคลเซียม+วิตามินดี)
  • ลดการดูดซึมน้ำตาล และไขมัน การจับคู่เพิ่มใยอาหาร กับอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง จะช่วยชะลอหรือลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล เช่น
  • ไอศกรีมซันเดย์ ที่มีผลไม้ นอกจากจะอร่อยแล้วยังได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกด้วย (น้ำตาล - ใยอาหาร)
  • ปาท่องโก๋ คู่กับเครื่องดื่มธัญญาหารใยอาหารสูง (ไขมัน - ใยอาหาร)

 

“แบ่ง” ปริมาณที่พอดี (Portion Control)

การจัดปริมาณอาหาร ให้เหมาะสมกับความต้องการ

นอกจากการเลือกประเภทของอาหารแล้ว ปริมาณก็มีความสำคัญ  เพราะร่างกายของแต่ละคนมีความต้องการพลังงานและสารอาหารที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุ  เพศ และไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ดังนั้น การควบคุมปริมาณอาหาร จึงควรเป็นการกินแบบตระหนักรู้ คือ กินในปริมาณเหมาะสมเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการ และกินในปริมาณที่พอดีกับระดับความอิ่ม ไม่ทำให้ตัวเองอยู่ในภาวะหิวจัด จนกินเยอะเกินอิ่ม อีกทั้งยังควรจัดการความอิ่มอย่างถูกต้องด้วยการกินช้า ๆ เพื่อให้กระเพาะใช้เวลาส่งสัญญาณให้รู้ว่าอิ่ม จะได้ควบคุมปริมาณการทานอาหารได้

มีหลายเทคนิคที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในการควบคุมปริมาณอาหาร และ “แบ่ง” ปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะขนม น้ำหวาน และเบเกอรี่ที่ควรรับประทานแบบพอดี เช่น

  1. แบ่งกินครั้งละน้อย อาหารว่างที่เป็นของหวานที่ดีต่อใจ เช่น เบเกอรี่ เค้ก เพราะแม้จะอร่อยแต่ก็ให้พลังงานสูง จึงควรแบ่งรับประทานครั้งละน้อย ๆ ให้เป็นนิสัย เช่น รับประทานเค้กทีละครึ่งชิ้นเสมอ ส่วนอีกครึ่งเก็บไว้มื้อถัดไป
  2. แบ่งด้วยการ “แชร์” อาหาร ของทานเล่น หรือเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง เช่น พิซซ่า ลูกชิ้นทอด ชาเย็น อาจแบ่งรับประทานหลายคน หรือหาเพื่อนจับคู่กินด้วยกัน เช่น ซื้อชาเย็นรสหวานมัน 1แก้ว เทแบ่งกัน 2 คน ก็จะช่วยลดพลังงานและน้ำตาลที่ได้รับต่อคนลงไปได้
  3. แบ่งด้วยการกำหนดเป้าหมาย การตั้งเป้าหมายล่วงหน้าจะช่วยให้เราควบคุมปริมาณอาหารได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยควรเริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้จริงและไม่ฝืนจนเกินไป เช่น จากที่เคยกินน้ำหวานทุกวัน อาจตั้งเป้าหมายให้ลดลงเหลือ 3 แก้วต่อสัปดาห์ หรือปรับเป็นแก้วที่เล็กลง 
  4. แบ่งด้วยฉลากโภชนาการ บนฉลากโภชนาการ นอกจากจะมีการระบุชนิดและปริมาณสารอาหารเอาไว้ ยังระบุปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อครั้งเอาไว้ด้วย (จำนวนหน่วยบริโภค) เช่น น้ำหวาน 1 ขวด แนะนำให้แบ่งบริโภค 2 ครั้ง มันฝรั่งทอด 1 ซอง แนะนำให้แบ่งบริโภค 3 ครั้ง การแบ่งบริโภคตามปริมาณที่แนะนำจึงช่วยให้เราควบคุมพลังงานและสารอาหารได้  หรือสามารถสังเกตสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” เพื่อช่วยในการเลือกซื้อ ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าว บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน หรือโซเดียมในระดับที่ต่ำกว่าสูตรปกติ และดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น

 

“แพลน” มื้อหนักเบาพอเหมาะ (Meal Planning)

การวางแผนสร้างสมดุลมื้ออาหารให้แต่ละวัน

แม้จะมีทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดมื้ออาหารให้สมดุล เช่น การจัดให้มีสารอาหารครบ 5 หมู่ หรือการจัดจานแบบ 2:1:1 (ผักและผลไม้ 2 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน และคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน) แต่ในชีวิตจริง แต่ละคนมีข้อจำกัดและไลฟ์สไตล์ต่างกัน หลายคนอาจไม่ค่อยมีเวลาทำอาหาร หลายคนสะดวกที่จะกินข้าวนอกบ้านมากกว่าทำอาหารกินเอง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีมื้ออาหารสมดุลในทุกมื้อ 

 

ดังนั้น การ "แพลน" เพื่อสร้างสมดุลมื้ออาหารในแต่ละวัน ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง คือ การวางแผนให้มื้อหนักและเบาสมดุลกัน เช่น หากในมื้อกลางวันมีแพลนกินมื้อหนักกับเพื่อน เช่น บุฟเฟ่ต์ ชาบู หรือหมูกะทะ เราสามารถวางแผนให้การทานอาหารมื้อเช้าให้ เป็นมื้อเบาที่มีปริมาณพอเหมาะ และครบครันด้วยสารอาหารได้ หรือเมื่อเสร็จจากการประชุมเครียด ๆ ในตอนเช้า อาจเป็นมื้อว่างฮีลใจที่กินไอศกรีม ช็อคโกแลต ให้รู้สึกดีขึ้นได้แต่ให้ลองเลือกไซต์เล็กหรือทานแบ่งกับเพื่อน จากนั้น มื้อกลางวันจะได้อร่อยเต็มที่กับมื้อที่รอคอย เราอาจแพลนทานมื้อเย็นเป็นมื้อเบาๆ โดยมาเพิ่มสารอาหารที่เรายังอาจทานไม่ครบในมื้อนี้ เช่นผัก หรือผลไม้หวานน้อย ช่วยเติมใยอาหาร ปรับสมดุลลำไส้  

 

เทคนิคในการแพลนสามารถทำตามได้ง่าย ๆ เริ่มจาก

  1. เตรียมตัวล่วงหน้าเมื่อทำได้ หลาย ๆ ครั้งเรามักจะรู้ล่วงหน้าก่อนจะถึงมื้อสำคัญ เช่น ถ้ารู้ว่าเย็นนี้ต้องไปกินหมูกระทะ ที่มีทั้งไขมันสูงจากเนื้อหมูและโซเดียมสูงจากน้ำจิ้ม มื้อ ก่อนหน้าอาจเลือกเป็นอาหารเบา ๆ ที่มีไขมันและโซเดียมต่ำลง เช่น ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาน้ำใส เป็นต้น
  2. หมั่นสังเกตสารอาหารที่ยังขาดหรือได้รับมากเกินไป เช่น มื้อที่กินฟาสต์ฟู้ดมักขาดผักผลไม้ มื้อบุฟเฟ่ต์มักให้พลังงานสูง มื้อที่ดื่มน้ำหวานมักให้น้ำตาลมากเกินไป หากทราบแบบนี้ก็จะช่วยให้เราวางแผนการกินในมื้อถัดไปให้ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น เช่น เลือกทานสลัดเพื่อเพิ่มผัก เลือกอาหารเบา ๆ พลังงานต่ำ หรือเลี่ยงขนมหวานเพื่อลดน้ำตาล เป็นต้น
  3. ใช้สีสัน รสชาติ และเนื้อสัมผัสของอาหารช่วยในการวางแผนมื้อ นอกจากจัดความหนักเบาของแต่ละมื้อให้สมดุลแล้ว เรายังสามารถใช้สีสัน รสชาติ และเนื้อสัมผัสของอาหารมาสร้างสมดุลให้อาหารภายในมื้อมีทั้งความอร่อยและให้สารอาหารที่เหมาะสมกับร่างกายมากขึ้นได้ เช่น
  • สร้างสีสันในมื้อด้วยผักหลากสี เพิ่มทั้งประโยชน์และความน่ารับประทาน
  • เลือกเมนูอาหารให้มีรสตัดกัน เช่น แกงพะแนงที่มีรสจัดคู่กับผัดผักที่มีรสอ่อน จะช่วยให้ทานเมนูผักได้ง่ายไม่จืดชืด แถมลดโซเดียมได้มากกว่ามื้อที่มีแต่อาหารรสจัดอีกด้วย
  • เลือกวิธีปรุงที่หลากหลาย เช่น มีทั้งเมนูทอด ต้ม และผัดปะปน จะกันช่วยลดไขมันจากน้ำมันได้มากกว่ามื้อที่มีแต่เมนูทอดเพียงอย่างเดียว เป็นต้น
  1. มองสัดส่วนโดยรวมของอาหารที่รับประทานต่อวัน ตั้งเป้าหมายให้อาหารที่เราได้รับทั้งหมดใน 1 วัน เป็นไปตามคำแนะนำทางสุขภาพ เช่น มีกลุ่มอาหารครบ 5 หมู่ มีผักผลไม้ 400 กรัม เติมน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา เติมเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา ดังนั้น หากมื้อไหนไม่มีผักก็ไม่เป็นไร แต่ใช้วิธีเพิ่มผักผลไม้ในมื้อถัดไปทดแทน เพื่อให้ตลอดทั้งวันได้รับผักผลไม้ครบ 400 กรัม เป็นต้น
     

ดังนั้น พึงระลึกไว้เสมอว่า ในการทำ Meal Planning การกินของหวานในปริมาณที่พอเหมาะ หรืออาหารที่ชอบไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพียงแค่เน้นวางแผนมื้ออาหารให้สมดุลกัน ซึ่งถือเป็นวิธีการคุมอาหารที่มีความยืดหยุ่นสูง ปรับแก้ได้ทุกมื้อ และสร้างสุขภาพที่แข็งแรงได้อย่างมีความสุขในรูปแบบที่เราต้องการ

BalanceDiet3


เพราะเราเชื่อว่าอาหารมีบทบาทในชีวิตของคนเรามากกว่าเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกาย แต่อาหารยังมีบทบาททางอารมณ์ และเป็นส่วนสำคัญในการเข้าสังคมอีกด้วย และไม่ว่าใครก็ตามที่อยากเริ่มต้นสร้างสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ไม่จำเป็นต้องงดหรือเลิกกินอาหารที่ชอบเสมอไป เพียงเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ เช่น การใส่ใจในคำเล็ก ๆ ทุกคำ ค่อย ๆ ปรับการกินด้วยเทคนิค "บวก แบ่ง แพลน" และปรับให้ตรงกับไลฟ์สไตล์  แนวทางการกินอยู่อย่างสมดุลนี้ ยังช่วยตอบโจทย์การสร้างสุขภาพดีแบบองค์รวม ทั้งกายและใจ ช่วยให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ช่วยลดอัตราการเกิดโรค NCDs ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย และลดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณะสุข สร้างสุขภาพที่ดี สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health And Well-Being)เท่านี้ เพียงคำเล็ก ๆ ก็สามารถสร้างความสุขที่ยิ่งใหญ่ให้ทุกคนได้เสมอ