Sort by
Sort by

8 วิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย

8 วิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย

การมีภูมิคุ้มกันที่ดี เปรียบเหมือนมีเกราะคอยป้องกันโรคอันเกิดจากเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ รา หรือสารก่อภูมิแพ้  แต่ในเด็กเล็กๆ ยังมีการพัฒนาของภูมิคุ้มกันไม่เต็มที่ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกด้วยวิธีต่อไปนี้

  1. ให้กินนมแม่ นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก นอกจากสารอาหารที่มีมากกว่า 200 ชนิดแล้ว นมแม่ยังมีสารภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย ดังนั้นคุณแม่จึงควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง  6 เดือนแรก และให้นมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 2 ปี
  2. ให้อาหารเสริมตามวัยที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและร่างกายที่แข็งแรง  หากจะเลือกอาหารเสริมสำเร็จรูป ควรเลือกที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์
  3. ดื่มนมที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์  เมื่อลูกอายุครบ 1 ปี สามารถให้ดื่มนมผงได้ ควรเลือกนมผงที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เพื่อภูมิคุ้มกันที่ต่อเนื่องจากนมแม่
  4. อย่าขาดผักผลไม้ ผักผลไม้มีวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
  5. ฉีดวัคซีนตามกำหนด การฉีดวัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนั้นๆ ขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปรับวัคซีนให้ครบถ้วนตามที่คุณหมอนัด
  6. ล้างมือบ่อยๆ  การล้างมือเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยลดการแพร่เชื้อ ยิ่งเด็กเล็กๆ มีโอกาสสัมผัสสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น พื้นห้อง ฯลฯ  ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย คุณแม่ควรฝึกให้ลูกล้างมือจนเป็นนิสัย เช่น หลังไอและจาม เมื่อกลับจากกิจกรรมนอกบ้าน เมื่อกลับจากโรงเรียนหรือเนิร์สเซอร์รี่ เมื่อเล่นของเล่นร่วมกับเด็กคนอื่น หลังจากเข้าห้องน้ำปัสสาวะหรืออุจจาระ ก่อนและหลังทานอาหาร และหลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง หากลูกไม่ให้ความร่วมมือ คุณแม่อาจหาสบู่ก้อนสวยๆ รูปสัตว์ หรือสบู่เหลวกลิ่นหอมๆ  มาใช้ ก็จะทำให้ลูกๆ ยอมล้างมือกันได้ง่ายขึ้น
  7. นอนหลับให้เพียงพอ ในช่วงที่ลูกนอนหลับ ร่างกายมีการซ่อมแซมส่วนสึกหรอและสร้างเซลล์ใหม่ๆ จึงควรจัดเวลาให้ลูกนอนอย่างเพียงพอ
  8. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาว ที่ทำหน้าที่สร้างสารภูมิคุ้มกันและจับกินเชื้อโรค ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งการออกกำลังกายในเด็กเล็กๆ ยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน เด็กที่แอคทีฟ ไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวบ่อย ชอบกระโดดโลดเต้น ก็เท่ากับได้ออกกำลังกาย ส่วนเด็กบางคนที่ไม่ค่อยชอบเคลื่อนไหว คุณพ่อคุณแม่ควรคอยกระตุ้นให้ได้ออกกำลังกายด้วยการเล่นกับลูก ชวนลูกคลาน เดิน วิ่ง หรือเต้นตามเพลง เป็นต้น