Sort by
Sort by

6 ไม้เด็ดจัดข้าวกล่องให้ถูกใจลูกน้อย

6 ไม้เด็ดจัดข้าวกล่องให้ถูกใจลูกน้อย
คุณเคยประสบปัญหาลูกน้อยไม่ยอมกินข้าวกล่องที่คุณอุตส่าห์ตั้งใจทำเป็นอย่างดีหรือไม่ หรือกินเพียงนิดเดียวก็ออกไปวิ่งเล่นซะแล้ว ไม่เคยกินหมดให้คุณแม่ชื่นใจเลยสักครั้ง อย่าเศร้าไปเลยค่ะ เรามีเทคนิคดีๆ ในการจัดข้าวกล่องให้ถูกใจลูกน้อยมาฝากกัน ไม่ว่าจะจัดให้เอาไปกินที่โรงเรียนหรือออกไปปิกนิกนอกบ้าน รับรองคราวนี้คุณแม่ได้ยิ้มแก้มปริแน่นอนค่ะ

1. ง่ายๆ เข้าไว้ เมนูง่ายๆ แต่ได้สารอาหารครบถ้วน อย่างเช่น ข้าวผัดประเภทต่างๆ ที่มีทั้งผักและเนื้อสัตว์ แถมด้วยต้มจืดให้ซดคล่องคอ แต่ถ้าอยากได้ง่ายกว่านั้นอีกก็ลองพวกแซนวิชไส้ต่างๆ เช่น แฮมชีส ผักกาดหอมชีส ผักกาดหอมแฮม สับเปลี่ยนไส้แซนวิชไปเรื่อยๆ ให้หลากหลายเข้าไว้ แล้วหมั่นสังเกตว่าเจ้าตัวเล็กโปรดปรานอาหารอะไรเป็นพิเศษ ถ้ากลัวว่าลูกกินอาหารที่จำเจแต่อย่างน้อยเขาก็ยังกินได้นะคะ ให้เขาเริ่มยอมกินก่อนแล้วค่อยมาหาวิธีเพิ่มเมนูอาหารดีกว่าค่ะ

2. ให้สร้างสรรค์เอง บางครั้งเราก็มักแปลกใจเวลาที่เห็นเด็กๆ จับคู่ของกินที่ดูจะไม่น่าเข้ากันได้ แต่เขากลับกินอย่างเอร็ดอร่อยแถมยังดูสนุกและมีความสุขอีกด้วย วิธีนี้สามารถดัดแปลงมาใช้กับกล่องข้าวกลางวันของลูกได้เช่นกัน เซอร์ไพร้ส์ลูกด้วยการใส่ส่วนผสมที่เขาชอบใส่ลงในกล่องข้าวสัก 2-3 อย่าง ให้ลูกของคุณได้ครีเอทเมนูเอง เช่น ขนมปัง ชีส มะเขือเทศ ผักกาดหอม แตงกวา งานนี้ได้กินอร่อยและสนุกแถมยังไม่ต้องเหนื่อยคุณแม่มากด้วย วินวินทั้งคู่เลยค่า

3. ทำให้สวยงาม อาหารหน้าตาดูดีมีชัยไปกว่าครึ่ง จริงไหมคะ บางทีแค่เห็นอาหารที่จัดวางสวยๆ ก็อิ่มตาอิ่มใจ ชวนอยากให้ลิ้มชิมรส เด็กๆ ก็เหมือนกันค่ะ ถ้าหน้าตาอาหารของตัวเองดูดี เพื่อนเห็นก็ชมว่าน่ากิน แล้วแบบนี้ลูกคุณจะอดใจไหวได้ไง แค่คุณเพิ่มเวลาทำอาหารอีกหน่อยสำหรับการประดิดประดอยหั่นผักหรือผลไม้ให้มีรูปทรงที่สวยงาม แต่งหน้าแต่งตาข้าวหรือแซนวิชให้ดูน่ารักและอย่าลืมเรื่องการจับคู่สีให้สวยงามด้วยนะคะ

4. ดัดแปลงเมนู ถ้ามื้อค่ำที่ผ่านมาลูกของคุณเจริญอาหารเป็นพิเศษ อย่าลืมเก็บเมนูที่เขาโปรดปรานไว้ในใจแล้วเอามาสร้างสรรค์เป็นเมนูข้าวกล่องให้เขาในวันต่อไปด้วยนะคะ เช่น ลูกของคุณชอบไส้กรอกมากคุณก็จัดการแปลงร่างไส้กรอกเป็นข้าวผัดไส้กรอกแทน หรือไก่อบก็กลายมาเป็นสลัดไก่อบได้เช่นกัน ข้อดีของการดัดแปลงเมนูอาหารก็คือคุณไม่ต้องเสียเวลาคิดเมนูหรือหาวัตถุดิบให้ยุ่งยาก แค่ทำตัวเป็นแม่บ้านสมองไวเท่านั้นเองค่ะ

5. ลูกมีส่วนร่วม สำหรับเด็กๆ การได้มีส่วนร่วมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับผู้ใหญ่ถือว่ามีความสำคัญทางใจกับพวกเขามาก เรื่องอาหารก็เช่นกัน ลองชวนลูกมานั่งวางแผน ออกแบบและทำเมนูอาหารด้วยกัน อาจจะให้ลูกของคุณวาดภาพ เขียน หรือนำเสนอดู แล้วลองนำไปประยุกต์ทำเป็นเมนูจริง เขาคงจะตื้นเต้นดีใจและอยากที่จะลิ้มลองเมนูที่ตัวเองมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ขึ้นมาไม่น้อยเลยทีเดียว

6. ไซส์มินิ ถ้าคุณมัวกังวลแต่ว่าลูกจะกินไม่อิ่มหรือจะได้สารอาหารไม่ครบถ้วน อย่าได้กังวลไปเลยค่ะ เพราะสิ่งที่เด็กๆ คิดเมื่อถึงเวลาอาหารกลางวันก็คือ “กลางวันนี้จะเล่นอะไรดีนะ” ช่วงเวลาสั้นๆ สำหรับการกินอาหาร ไม่ต้องพยายามเอาอาหารทุกอย่างลงในท้องลูก เอาแค่ปริมาณพอดี ดูให้เมนูนั้นครบ 5 หมู่ และหลากหลาย ตัดแบ่งทุกอย่างแบบพอดีคำ แต่ถ้าคุณกลัวว่าลูกจะกินไม่อิ่มหรือจะหิวระหว่างอยู่ในห้องเรียน สิ่งที่คุณจะทำได้ก็คือ มั่นใจว่าลูกของคุณกินอาหารเช้าอิ่ม หรือคุณได้จัดของว่างและของกินเล่นให้เขาพกติดตัวไปด้วย แต่ถ้าไม่มีเวลาเตรียมของว่างก็อาจจะเปลี่ยนเป็นนมหรือเครื่องดื่มรสช็อกโกแลตที่เด็กๆ ชื่นชอบก็ได้