Sort by
Sort by

10 วิธีชวนลูกกินลดน้ำหนัก ให้อิ่มและยังสุขภาพดี

10 วิธีชวนลูกกินลดความน้ำหนัก อิ่มแต่ไม่อ้วนและสุขภาพดี

ลูกจ้ำม่ำน่ารักน่าฟัด แต่ถ้าปล่อยให้อ้วนไปเรื่อยๆ ก็เสี่ยงกับโรคอันตรายในระยะยาวนะคะ คุณแม่คนไหนที่มีลูกอ้วนมาช่วยลูกลดน้ำหนักด้วย 10 วิธีนี้กันเถอะค่ะ

 

“จ้ำม่ำจัง ขอฟัดหน่อยได้ไหมคะ”

“อวบแก้มจะแตกอยู่แล้วลูก น่าเอ็นดูจัง”

เคยมีใครเอ็นดูความอวบอ้วนของลูกเราแบบนี้บ้างไหมคะ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็ไม่น่าห่วงค่ะ แต่เมื่อลูกเริ่มโตเข้าวัยอนุบาลโดยยังเพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเด็กอ้วน นั่นคือสัญญาณอันตรายแล้วค่ะคุณแม่ เพราะอาจเกิดโรคในระยะยาว เช่น โรคอ้วน เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคข้อกระดูก นอนกรน หรืออาการหยุดหายใจไปชั่วขณะนอนหลับ ทำให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ค่ะ

เรามาชวนลูกลดน้ำหนักแบบไม่หักดิบ ไม่หักหาญน้ำใจกับของกินที่ชอบกิน ด้วย 10 วิธีง่ายๆ ต่อไปนี้ค่ะ รับรองเลยว่าลูกจะยังมีน้ำมีนวลแต่ไม่อ้วน สุขภาพดี และกระฉับกระเฉงกว่าเดิมแน่นอนค่ะ

 

10 วิธีลดน้ำหนักสำหรับเด็ก ป้องกันโรคอ้วน

ก่อนช่วยลูกลดน้ำหนัก คุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า ลูกอยู่ในวัยเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมอง ดังนั้นการลดน้ำหนักของเด็ก “ห้ามงดอาหาร”  แต่จะใช้วิธีปรับเปลี่ยนอาหารและกิจกรรม เพื่อทำให้น้ำหนักคงที่แทนการลดน้ำเหมือนแบบผู้ใหญ่ และวิธีนี้จะไม่กระทบกับส่วนสูงและน้ำหนักของลูกค่ะ

  1. ห้ามงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งเด็ดขาด โดยเฉพาะมื้อเช้า แต่ให้เลือกอาหารประเภทธัญพืชเต็มเมล็ดหรือโฮลเกรน และค่อย ๆ เพิ่มผักผลไม้ไม่หวานจัดในอาหาร ใยอาหารจะช่วยให้อิ่มนานขึ้น กินน้อยลงค่ะ
  2. เปลี่ยนจากเมนูทอด เป็นเมนูประเภทต้ม อบ นึ่ง ลวก ยำ ตุ๋นแทนค่ะ เพิ่มผักและไม้ในมื้ออาหารให้มากขึ้น โดยพ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนการกินไปพร้อมกับลูก ให้เขารู้สึกไม่แปลกแยก และเห็นตัวอย่างการกินของพ่อแม่ค่ะ
  3. ดื่มพร่องไขมันวันละ 2- 3 แก้ว เลี่ยงนมเปรี้ยวและนมปรุงแต่งรสต่าง ๆ เพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง
  4. ลดการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม และขนมหวาน โดยจำกัดปริมาณการกิน หรือเลือกประเภทที่ให้พลังงานน้อย เช่น ไอศกรีมนมสด คุกกี้ข้าวโอ๊ต เป็นต้น
  5. กำหนดเวลากินข้าวและของว่างให้เป็นเวลาชัดเจน เพื่อให้ลูกโฟกัสกับมื้อหลัก และไม่กินขนมหรือมื้อเล็กมื้อน้อยตลอดวัน และควรกินข้าวพร้อมกันโดยไม่กินไปดูทีวีหรือเล่นมือถือไปนะคะ
  6. ตักอาหารใส่จานลูกในสัดส่วนปริมาณของเด็ก ไม่ใช่ปริมาณเท่ากับพ่อแม่นะคะ และไม่ควรบังคับให้ลูกกินจนหมดจานหากลูกบอกว่าอิ่มแล้ว เพราะจะทำให้เขารับรู้ว่าการกินอาหารให้หมดมีความสำคัญกว่าความรู้สึกอิ่ม
  7. ฝึกให้ลูกกินอาหารให้ช้าลง เช่น เล่นเกมนับจำนวนเคี้ยวต่อหนึ่งคำ การกินอาหารช้าลงจะช่วยให้อิ่มไวขึ้นค่ะ
  8. ลดและปรับเปลี่ยนการซื้อขนมตุนไว้ วางขนมให้ลูกเห็นและหยิบเองได้ รวมถึงการให้รางวัลลูกด้วยขนมทุกครั้งที่ลูกทำดี แต่ควรปรับกติกากันใหม่ เช่น ขนมที่หยิบจะต้องหยิบตอนพ่อแม่อนุญาตเท่านั้น ลูกจะได้ไอศกรีมเป็นรางวัลเมื่อช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เป็นต้น
  9. เปลี่ยนของว่างติดกระเป๋าลูกจากขนมเป็นผลไม้รสไม่หวานจัด ขนมธัญพืช หรือนมกล่อง จะได้เลี่ยงการซื้อขนมหน้าโรงเรียนด้วยค่ะ
  10. ชวนลูกทำกิจกรรมที่ช่วยเผาผลาญพลังงาน เช่น วิ่งเล่น  กระโดดเชือก ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ กระโดดเชือก หรือให้ช่วยเหลืองานบ้าน  ที่สำคัญคือต้องลดและเลี่ยงการให้ลูกดูทีวีหรือเล่นแท็บเล็ตทั้งวันค่ะ (เด็กอายุ 3-12 ปี ควรใช้เวลาหน้าจอเพียงวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น)
 

การควบคุมน้ำหนักของลูกไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน ต้องอาศัยเวลาและความพยายามฝึกจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน และที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยให้กำลังใจและเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยนะคะ รับรองว่าการควบคุมน้ำหนักของลูกประสบความสำเร็จได้ไม่ยากค่ะ