Sort by
Sort by

“อุนจิของหนู” สัญญาณเตือนใต้ผ้าอ้อมที่แม่ต้องสังเกต

“อุนจิของหนู” สัญญาณเตือนใต้ผ้าอ้อมที่แม่ต้องสังเกต

 

อาการท้องผูกที่เกิดขึ้นบ่อย สามารถขัดขวางพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกน้อยได้

 

พ่อแม่ทุกคนอยากเห็นลูกน้อยมีพัฒนาการ สติปัญญาดี อารมณ์ร่าเริง และสุขภาพแข็งแรง ใช่ไหมคะ แต่เรื่องสุขภาพของลูกนั้น แทบทุกบ้านต้องเจอปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ปรกติแล้ว ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือนจะถ่ายวันละ 2-3 ครั้ง อายุ 3-6 เดือนถ่ายวันละ 2-4 ครั้ง ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปถ่ายวันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนมและอาหารที่ลูกได้รับ พ่อแม่ควรสังเกตลักษณะของอุจจาระลูกว่าแข็งเป็นก้อนกลม ๆ หรือมีเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่ เพราะนั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าเป็น “โรคท้องผูก” ค่ะ

 

อาการแบบไหนบ่งบอกว่าลูกกำลังท้องผูก

  • ขับถ่ายน้อยผิดปรกติ 2-3 วันต่อครั้ง
  • ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมาก รู้สึกหงุดหงิด ร้องไห้เวลาขับถ่าย
  • มีเลือดปนอุจจาระ เนื่องจากผนังทวารหนักฉีกขาดจากการออกแรงเบ่ง
  • ไม่ค่อยกินอาหาร อิ่มเร็ว เพราะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายท้อง
  • ท้องแข็ง ตึง แน่น
 

วิธีดูแลเมื่อลูกท้องผูก

  • สำหรับเด็กวัยเริ่มอาหารเสริม แม่ควรเลือกอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และอาหารเสริมที่มีใยอาหาร
  • เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถดื่มน้ำได้แล้ว ควรให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ และอาจให้ดื่มน้ำลูกพรุนโดยผสมน้ำเปล่าเพื่อเจือจางความเข้มข้นและไม่ให้หวานเกินไปนะคะ
  • ชวนลูกเดิน วิ่งเล่น เพื่อขยับร่างกายให้ลำไส้เคลื่อนไหว และบีบตัวมากขึ้น แต่สำหรับทารกที่ยังเดินไม่ได้ ให้แม่จับขาลูก ทำท่าถีบจักรยานกลางอากาศแทนได้ค่ะ
  • ถ้าท้องผูกมาก ๆ ให้ปรึกษาแพทย์ดีกว่า แพทย์อาจใช้ยาช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัว เพื่อให้ถ่ายง่ายขึ้น หรือใช้ยากลีเซอรีนเหน็บก้นค่ะ แต่อย่าซื้อยามาใช้ยาเองเพราะจะให้ลูกเคยชินและไม่ยอมขับถ่ายตามธรรมชาตินะคะ

ส่วนการแก้ปัญหาด้วยวิธีสวนทวารหนักนั้นไม่แนะนำเลยนะคะ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และอาจทำให้ลูกท้องผูกซ้ำๆ จนกลายเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งนอกจากจะทำร้ายสุขภาพแล้วยังส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ของลูกด้วยค่ะ