Sort by
Sort by

วิธีคำนวณน้ำหนักแม่ท้อง กินเผื่อลูกอย่างไรไม่ให้อ้วน

วิธีคำนวณน้ำหนักแม่ท้อง กินเผื่อลูกอย่างไรไม่ให้อ้วน

 

น้ำหนักที่ของแม่ตั้งครรภ์แต่ละเดือนควรเพิ่มเท่าไร เพราะถ้ามากหรือน้อยไปอาจส่งผลถึงลูกในท้องได้

 

เรื่องน้ำหนักตัวของแม่ท้อง ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละเดือนนั้น ถือเป็นปัญหาชวนปวดหัวไม่น้อยเลยค่ะ เพราะแม่ทุกคนต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ถ้ามัวห่วงรูปร่าง กลัวอ้วน อาจทำให้ทารกตัวเล็ก มีพัฒนาการไม่สมบูรณ์ แต่ถ้ากินมากไปก็เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ แต่เนื่องจากแม่แต่ละคนก็มีโครงสร้างร่างกาย และต้นทุนน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์แตกต่างกันไป ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่าน้ำหนักที่พอดีควรเป็นเท่าไร แม่สามารถประเมินได้ด้วยตัวเอง โดยใช้การคำนวณดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) คือ เอาน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง แล้วนำมาเทียบกับตารางนี้ค่ะ

น้ำหนักน้อย น้ำหนักปกติ น้ำหนักเกิน อ้วน
ค่าดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ (กิโลกรัม/เมตร2) <18.5 18.5-22.9 23.0-29.9 ≥30
อัตราการเพิ่มน้ำหนักในไตรมาสที่ 2 และ 3 (กรัม/สัปดาห์) 440-580 350-500 230-330 170-270
อัตราการเพิ่มน้ำหนักในไตรมาสที่ 2 และ 3 (กิโลกรัม/เดือน) 1.8-2.3 1.4-2.0 0.9-1.3 0.6-1.1
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ (กิโลกรัม) 12.5-18.0 11.5-16.0 7.0-11.5 5.0-9.0

 

ยกตัวอย่าง เช่น

แม่สูง 160 ซม. น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ 70 กก.
จะมีค่าดัชนีมวลกาย เท่ากับ 70 กก. / 1.6 ม. x 1.6 ม. = 27.3 กก./ม2 หรือมีน้ำหนักเกิน
นั่นหมายความว่า ก่อนตั้งครรภ์แม่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์อยู่ จึงควรรักษาน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ ให้เพิ่มขึ้น 7-11.5  กิโลกรัม จึงจะถือว่าเหมาะสมนะคะ

 

ห้ามลดน้ำหนักตอนตั้งครรภ์เด็ดขาด

ทารกในครรภ์มีพัฒนาการ การเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงสร้างเซลล์สมองอยู่ตลอดเวลา หากแม่จำกัดอาการ หรือลดน้ำหนักอย่างจริงจังอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารสำคัญ เช่น ธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ได้นะคะ ทางที่ดีแม่ควรใส่ใจเลือกอาหารที่มีส่งเสริมการเจริญเติบโตของลูกน้อยโดยไม่ก่อให้เกิดไขมันสะสมดีกว่าค่ะ เช่น เลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ดื่มนมที่มีโฟเลตสูงและมีดีเอชเอ เลือกกินอาหารว่างที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารทอด เบเกอรี่ ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม และหมั่นออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ

 

กินเผื่อสอง แต่ไม่ใช่ 2 เท่า

แม่บางคนเผลอกินมากจนน้ำหนักพุ่งพรวด 20-30 กิโลกรัม! ซึ่งพอคลอดแล้วจะทำให้การลดน้ำหนักเป็นไปได้ยากมากนะคะ ความจริงแล้วแม่ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 300 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือเทียบเท่ากับนม 1-2 แก้ว หรือของว่างที่มีประโยชน์จานเล็ก ๆ ก็เพียงพอแล้วล่ะค่ะ โดยน้ำหนักควรจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สองและสามนะคะ

ใคร ๆ ก็เห่อเบบี๋ตัวน้อยในพุงของแม่ พยายามสรรหาของอร่อยมาให้เยอะแยะ แต่แม่ต้องกินอย่างมีสติด้วยนะคะ เลือกอาหารที่มีประโยชน์ และควบคุมน้ำหนักให้ขึ้นช้า ๆ ตามเกณฑ์ ก็จะช่วยให้มีสุขภาพดีทั้งลูกน้อยในครรภ์และตัวแม่เองค่ะ