Sort by
Sort by

ขนมจุบจิบต้องห้าม(พลาด) ลูกกินได้กินดี ไม่มีอ้วน

ขนมจุบจิบต้องห้าม(พลาด) ลูกกินได้กินดี ไม่มีอ้วน

 

พ่อแม่มักจะห้ามไม่ให้ลูกกินขนมจุบจิบ แต่รู้ไหมว่า ขนมบางอย่างก็เป็นมิตรต่อสุขภาพของเด็ก ๆ นะ

 

ลองนับดูซิคะว่าในแต่ละวันเรากินอาหารกันกี่มื้อ? หลายคนจัดหนักครบ 3 มื้อ ต่อด้วยลูกชิ้น ขนมหวาน ชานมไข่มุก ฯลฯ ไม่กลัวอ้วนกันเลยทีเดียว ความจริงแล้วผู้ใหญ่กับขนมจุบจิบเป็นสิ่งที่ต้องเพลา ๆ ลงบ้างนะคะ เพราะถ้ามากเกินไปจะทำให้โรคภัยถามหาได้ แต่ถ้าเป็นเด็ก ๆ แล้วต้องให้กินบ่อย ๆ เพราะกระเพาะอาหารของเด็กเล็กกว่าผู้ใหญ่ เมื่อกินข้าวแล้วอาหารจะถูกเผาผลาญเพื่อนำไปใช้ในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย และเซลล์สมองที่กำลังพัฒนาอย่างไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เด็กจึงหิวบ่อยและต้องทานเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอตลอดทั้งวันค่ะ

แต่การทานอาหารว่างก็มีข้อควรระวังเพราะจากข้อมูลการสำรวจเรื่องการกินอาหารว่างของเด็กในปัจจุบัน พบว่า เด็กได้รับพลังงานจากอาหารว่างและขนมมากกว่าที่ควรจะได้รับ และอาหารว่างมักเต็มไปด้วยไขมัน แป้งและน้ำตาล ส่งผลให้เด็กมีปัญหาน้ำหนักเกินเกณฑ์ ในขณะที่ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ก็กำหนดเอาไว้ว่าเด็กควรได้รับพลังงานจากอาหารว่างไม่เกินมื้อละ 100-150 กิโลแคลอรี่ วันละ 2 ครั้ง และไม่ควรมีน้ำมันและน้ำตาลมากเกินไป อีกทั้งควรเลือกซื้อขนมที่มีสีตามธรรมชาติ ไม่ใช่ขนมที่มีสีสันฉูดฉาด

 

ของว่างแบบไหนที่ดีต่อสุขภาพ

เรามาเปลี่ยนอาหารว่างให้เป็นเมนูคุณภาพ ด้วยเทคนิคต่อไปนี้กันค่ะ

  • เบเกอรี่ พาย ต้องไม่หวานหรือมันจัด และควรเลือกที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ผัก เช่น ขนมปังไส้ไก่ ซาลาเปาหมูสับ ขนมจีบ แซนด์วิชโฮลวีททูน่า พายผักโขม ส่วนเค้กที่ทำจากครีมเทียม ซึ่งเป็นของโปรดของเด็ก ๆ นั้นควรให้กินเฉพาะโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด วันปีใหม่ และกินในปริมาณน้อย ๆ นะคะ
  • ขนมไทย เลือกขนมที่มีรสหวานน้อย ไม่มันจนเกินไป และควรทำจากส่วนผสมที่มีประโยชน์ เช่น ถั่ว ธัญพืช ผลไม้ หรือไข่ เช่น ขนมถั่วแปบ ถั่วกวน ลูกชุบ กล้วยกวน ข้าวต้มมัด หรือกล้วยบวดชีใส่กะทิน้อย ๆ
  • ขนมถุง ควรหลีกเลี่ยงขนมที่มีส่วนประกอบหลักเป็นแป้งและไขมัน เช่น มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ แต่ถ้าลูกอยากกินจริง ๆ ก็ไม่ควรเกิน 1 ถุงเล็กหรือหนึ่งหน่วยบริโภค และควรให้ลูกได้ลองกินขนมอื่น ๆ ที่มีโปรตีน ถั่ว หรือผัก ผลไม้ เป็นส่วนประกอบ เช่น ปลาเส้น ถั่วลิสงอบ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผักผลไม้อบแห้ง และอย่าลืมอ่านฉลากหวานมันเค็ม เพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมน้อยๆ ด้วยนะคะ
 

  • ไอศกรีม สังเกตส่วนประกอบบนซองหรือฉลาก ไม่ควรให้พลังงานเกิน 100 กิโลแคลอรีต่อแท่ง ไม่มีไขมันและน้ำตาลสูงเกินไป และทางที่ดีควรเลือกไอศกรีมที่ใช้สีธรรมชาติ
  • น้ำปั่น ทำมาจากผลไม้สด หรือผลไม้ผสมนมสด และไม่ควรมีรสหวานจัด
  • นมเปรี้ยว มีประโยชน์น้อยกว่าของว่างชนิดอื่น เพราะมีนมเป็นส่วนประกอบเพียงร้อยละ 50 และมีน้ำตาลสูง ถ้าอยากให้ลูกกินนมควรเปลี่ยนเป็นนมรสจืดหรือรสหวานน้อยแทนนะคะ

เทคนิคอีกอย่างก็คือ ให้สังเกต “สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ” ซึ่งเป็นความร่วมมือภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์ว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสมและผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ขนมหวานเป็นเหมือนความสุขของเด็ก ๆ กินเท่าไรก็ไม่เบื่อ แต่ต้องรู้จักเลือกกินให้ถูกต้อง แล้วอาหารว่างก็จะกลายเป็นของอร่อยมีประโยชน์และเป็นมิตรต่อสุขภาพค่ะ