Sort by
Sort by

กินข้าวไม่ครบมื้อ ทำให้พัฒนาการช้า จริงหรือ?

กินข้าวไม่ครบมื้อ ทำให้พัฒนาการช้า จริงหรือ?

 

เด็ก ๆ ทานอาหารไม่ครบมื้อ จะมีพัฒนาการต่างจากเด็กที่ทานข้าวครบมื้อหรือไม่?

 

พ่อแม่ทุกคนคาดหวังอยากให้ลูกน้อยเติบโตด้วยความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ จึงเพิ่มความใส่ใจในรายละเอียดของอาหารทุกมื้อ เราลองมาดูกันว่าอาหารมื้อไหน สำคัญกับพัฒนาการของลูกน้อยอย่างไรบ้าง

มื้อเช้า

หลังจากที่ท้องว่างมาตลอดคืน เด็ก ๆ ควรทานมื้อเช้าเพื่อเพิ่มพลังงาน เติมน้ำตาลในเลือด กระตุ้นสมองและร่างกายให้มีความตื่นตัว เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยความสดใส แต่ถ้าลูกรักไม่ได้ทานข้าวเช้า จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด ขาดสมาธิ และประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง

 

อาหารเช้าที่ดีควรมีคุณค่าทางสารอาหารเพียงพอและมีความหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ครบถ้วน ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ เช่น หมวดโปรตีน ได้แก่ นม โยเกิร์ต ไข่ต้ม ทานคู่กับคาร์โบไฮเดรต อย่าง ข้าวสวย ขนมปังโฮลวีท แล้วตบท้ายด้วยผลไม้หรือน้ำผลไม้คั้นสด เป็นต้น หากคุณแม่มีเวลาน้อย อาจเตรียมอาหารง่าย ๆ แต่ต้องครบถ้วนด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อร่างกายของลูกรักให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดช่วงเช้านะคะ

มื้อกลางวัน

 

ถือเป็นมื้อหลักของวัน เด็ก ๆ ส่วนมากมักรับประทานอาหารที่ทางโรงเรียนจัดไว้ บ้างก็ซื้อทานจากร้านอาหารในโรงเรียน ดังนั้นในแต่ละวันคุณแม่ควรสอบถามลูก ๆ ว่าทานอะไรบ้าง เพื่อทราบถึงปริมาณและสารอาหารที่ได้รับในมื้อนั้น ๆ การที่เด็ก ๆ ได้ทานข้าวร่วมกับเพื่อน ๆ จะช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น เรียนรู้มารยาทบนโต๊ะอาหาร และทานอาหารอย่างมีระเบียบ นอกจากนี้ ในวันหยุดต่าง ๆ อาจหาโอกาสชวนลูก ๆ เข้าครัวทำอาหารกลางวันรับประทานร่วมกัน แทนการทานข้าวนอกบ้านที่อาจมีผงชูรสปนเปื้อน กิจกรรมสร้างสรรค์ภายในครอบครัวแบบนี้จะเพิ่มความสุขและกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

มื้อเย็น

 

การทานอาหารร่วมกันในมื้อเย็นเป็นโอกาสที่ครอบครัวจะได้พร้อมหน้าพร้อมตา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันเรื่องราวที่พบเจอในแต่ละวัน ทั้งยังเป็นการสร้างความทรงจำอันอบอุ่น ความรู้สึกดี ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เด็ก ๆ ทานข้าวมากขึ้น มีทัศนคติที่ดีต่อการทานอาหาร แต่คุณแม่ควรระวังไม่ให้ลูกทานขนมก่อนมื้อเย็นมากจนอิ่ม เพราะจะทำให้ทานมื้อหลักได้น้อยลง

อาหารว่าง ของหวานและเครื่องดื่ม

 

คุณแม่ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกของว่างให้ลูก ควรหลีกเลี่ยงน้ำหวาน  น้ำอัดลม ขนมที่มีส่วนผสมของแป้ง ไขมัน เกลือ และน้ำตาลมากเกินไป เพราะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว แล้วหันมาเตรียมของว่างที่มีประโยชน์ อย่าง ถั่วประเภทต่าง ๆ ธัญพืช ผัก ผลไม้สด อาจทำขนม อาทิ เค้กข้าวโอ๊ต คุกกี้อัลมอนด์ กล้วยหอม แอปเปิ้ล ข้าวต้มมัด นม น้ำผลไม้ ใส่กล่องไว้ให้เด็ก ๆ ทานที่โรงเรียนในช่วงบ่ายก็ได้ค่ะ

เมื่อคุณแม่ใส่ใจในมื้ออาหารของลูกรักเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจดีขึ้นกว่าเด็กวัยเดียวกัน ถือเป็นการทุ่มเทที่คุ้มค่าและนำมาซึ่งความสุขของครอบครัวค่ะ