Sort by
Sort by

10 ข้อปฎิบัติการให้อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของทารกและเด็กเล็ก (แรกเกิด – 1 ปี)

10 ข้อปฎิบัติการให้อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของทารกและเด็กเล็ก (แรกเกิด – 1 ปี)
  1. ให้นมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน ไม่ต้องให้อาหารอื่นแม้แต่น้ำ เพราะนมแม่มีสารอาหารครบถ้วน ช่วยให้ลูกเจริญเติบโต มีภูมิต้านทานโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย
  2. เริ่มให้อาหารเสริมตามวัยเมื่อลูกอายุ 6 เดือน ควบคู่กับนมแม่ โดยเริ่มให้ทีละอย่าง ครั้งละน้อย ๆ ติดต่อกันประมาณ 7 วัน เพื่อดูว่าลูกแพ้อาหารหรือไม่ แล้วค่อยเปลี่ยนให้อาหารชนิดอื่น
  3. เพิ่มจำนวนมื้ออาหารเสริมตามวัยเมื่ออายุลูกเพิ่มขึ้นจนครบ 3 มื้อ เมื่อลูกอายุ 10-12 เดือน
    ความต้องการสารอาหารของเด็กเพิ่มขึ้นตามวัย ดังนั้นจึงต้องเพิ่มมื้ออาหารของลูกดังนี้ อายุ 6-8 เดือน กินอาหารตามวัยทดแทนนมแม่ได้ 1 มื้อ และเพิ่มเป็น 2 มื้อเมื่ออายุ 8-10 เดือน และ 3 มื้อเมื่ออายุ 10-12 เดือน
  4. ให้อาหารเสริมตามวัยที่มีคุณภาพและครบ 5 หมู่ทุกวัน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ข้าว แป้ง ผัก ผลไม้ และน้ำมัน เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอกับความต้องการ
  5. ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณและความหยาบของอาหารขึ้นตามอายุ
  6. ให้อาหารรสธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งรส ไม่ควรให้อาหารรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด เพื่อฝึกไม่ให้ลูกติดการกินอาหารรสจัดที่เสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น ฟันผุ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง
  7. ให้อาหารสะอาดและปลอดภัย
    อาหารที่ให้ลูกกินต้องสะอาด ปรุงสุก รวมทั้งภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ต้องล้างให้สะอาด เพราะถ้าลูกกินอาหารที่ไม่สะอาดและปนเปื้อน อาจทำให้เจ็บป่วยได้ เช่น ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ ทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก
  8. ให้ดื่มน้ำสะอาด งดเครื่องดื่มรสหวานและน้ำอัดลม
    ให้ลูกดื่มน้ำเปล่าที่สะอาด ต้มสุก ไม่ควรให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานและน้ำอัดลม เพราะจะทำให้ลูกติดรสหวานจนเป็นนิสัย ทำให้ฟันผุ เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน
  9. ฝึกวิธีดื่มกินให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัย
    เมื่อลูกอายุ 8 เดือน ก็หัดให้ลูกกินเอง ใช้มือหยิบจับอาหาร ได้แก่ แตงกวา แครอทต้มสุกที่เป็นชิ้น ๆ เข้าปากได้
  10. เล่นกับลูก สร้างความผูกพัน หมั่นติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการ

ความรักและการเอาใจใส่จากพ่อแม่ เช่น โอบกอด พูดคุย เล่านิทาน ร้องเพลง และเล่นกับลูก จะช่วยสร้างความผูกพัน และช่วยให้ลูกมีพัฒนาการ และสติปัญญาดียิ่งขึ้น สิ่งที่ลืมไม่ได้คือ แม่ต้องหมั่นสังเกตและติดตามการเจริญเติบโตของลูก โดยชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และดูการขึ้นของฟันซี่แรก

ที่มา โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย