Sort by
Sort by

โภชนาการส่งผลต่ออารมณ์

โภชนาการส่งผลต่ออารมณ์

อันที่จริงแล้วเรื่องของอาหารและอารมณ์นั้นมีความสัมพันธ์กันมาก ในทางจิตวิทยากล่าวว่า มนุษย์จะมีความสุขมากที่สุด เมื่อให้การกินเป็นเหมือนการได้รับรางวัลหรือกินเพื่อฉลองในโอกาสพิเศษ โดยเฉพาะความอยากอาหารจะมากขึ้นเป็นพิเศษ หากได้กินอาหารที่ตนเองชอบ ได้รับประทานอาหารร่วมกับคนพิเศษหรือครอบครัว ตลอดจนออกไปรับประทานอาหารท่ามกลางบรรยากาศดีๆ แต่หากมองทางหลักโภชนาการกับร่างกายมนุษย์นั้น สารอาหารบางอย่างก็สามารถส่งผลต่ออารมณ์ และความรู้สึกได้เช่นกัน

เคยไหม?? ที่บางครั้งรู้สึกหงุดหงิดหรือเครียด และหลายๆคนมักเลือกกินขนมหวาน เช่น ลูกอม ช็อกโกแลต เค้ก หรือไอศกรีมโดยไม่รู้ตัว...หรือว่า เคยไหม?? ที่บางครั้งไม่ได้รับประทานอาหารแล้ว รู้สึกโมโหหิว หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี

จากหลักการทางวิทยาศาสตร์ สมองของมนุษย์นั้นใช้น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานหลัก ซึ่งน้ำตาลนั้นได้จากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง ขนมปัง เผือก มัน ตามที่เราเคยเรียนมากันตั้งแต่เด็ก อาหารกลุ่มนี้จะถูกดูดซึมไปเป็นน้ำตาลในกระแสเลือด และถูกส่งไปเลี้ยงสมองจึงทำให้เรารู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย และหายเครียดได้ นอกจากนี้การรักษาระดับน้ำตาลให้เพียงพอในกระแสเลือดยังเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จะทำให้ร่างกายมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย และหงุดหงิดได้ ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตจึงส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์ได้

คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางการรับประทานอาหาร เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด

  • กินให้เป็นเวลา : แบ่งมื้ออาหารให้กระจายและครอบคลุมระยะเวลาในแต่ละวัน ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเข้านอน สามารถทำได้โดยอาจแบ่งเป็นอาหาร 3 มื้อหลัก และมื้ออาหารว่างเสริม 2-3 มื้อ เพื่อให้ร่างกาย ได้รับพลังงานจากอาหารตลอดวัน เพื่อช่วยคงระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป
  • อาหารอิ่มนาน : ต้องมั่นใจว่าควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละมื้อให้เหมาะสมด้วย และมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต้องเพียงพอ หากเลือกคาร์โบไฮเดรตในกลุ่มที่ถูกดูดซึมเป็นน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้าๆ ก็จะยิ่งส่งเสริมระดับน้ำตาลคงที่และเกิดความรู้สึกอิ่มนาน ซึ่งคาร์โบไฮเดรตกลุ่มนี้ หมายถึงอาหารจำพวก ธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ซีเรียสโฮเกรน ขนมปังโฮลวีท เครื่องดื่มธัญหารที่มีส่วนผสมของธัญพืชโฮลเกรน หรือกลุ่มผลไม้หวานน้อย เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล มะละกอ จะสามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าผลไม้ที่มีรสหวานจัด

นอกจากนี้ อาหารบางประเภทยังสามารถช่วยส่งเสริมให้ภาวะทางอารมณ์ดีขึ้นได้ เช่น หากคุณมีอาการวิตกกังวล หรือเครียดจนรบกวนการนอนหลับ การรับประทานอาหารที่มีกรดอะมิโน ทริปโตเฟน เช่น นม ข้าวโอ๊ต ช็อกโกแลตแท่ง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต จะช่วยทำให้อารมณ์สงบลงได้ เนื่องจากทริปโตเฟน มีส่วนช่วยในการสร้างฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งสามารถช่วยให้สมองผ่อนคลาย และทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น  

ในทางตรงกันข้าม หากคุณง่วงนอน อ่อนเพลีย เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น โคล่า ชา กาแฟ โกโก้จะช่วยกระตุ้นให้สมองและร่างกายตื่นตัวหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

จะเห็นได้ว่าการรับประทานอาหารและชนิดของอาหารนั้น มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้ที่บริโภค อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารอย่างเดียวไม่ได้มีส่วนช่วยในการจัดการอารมณ์ทั้งหมด การบริหารความคิด และการจัดการความเครียดก็มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา และควรทำควบคู่กันไป โดยอย่าลืมว่า อาหารเป็นเพียงตัวช่วยหนึ่งเท่านั้นค่ะ

คุณวรัญญา เตชะสุขถาวร นักโภชนาการ