Sort by
Sort by

โภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียน

โภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียน
วัยเรียน หมายถึง เด็กที่มีอายุระหว่าง 6-12 ปี เด็กจะมีกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนตลอดเวลา ดังนั้น เด็กควรได้รับอาหารเพียงพอต่อความต้องการและครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ การได้รับอาหารที่ไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมอาจทำให้เด็กแคระแกรน ไม่มีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและสติปัญญาในการเรียนรู้

อาหารหลัก 5 หมู่ประกอบด้วย

หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง ให้โปรตีน ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต เสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ ควรกินเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมสดวันละ 2-3 แก้ว และไข่วันละ 1 ฟอง

หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง น้ำตาล ให้คาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานแก่ร่างกาย ควรจัดให้เด็กกินทุกมื้อโดยเฉพาะมื้อเช้าเพราะแป้งจะย่อยสลายเป็นน้ำตาลกลูโคส ซึ่งเป็นอาหารสมองให้เด็กสามารถนำไปใช้ได้ทันทีหลังจากไม่ได้รับอาหารเป็นเวลานานตลอดทั้งคืน

หมู่ที่ 3 พืชผักต่างๆ เป็นแหล่งวิตามินและเกลือแร่ รวมทั้งช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ควรจัดให้เด็กกินทุกมื้อ หลากหลายตามฤดูกาลเพื่อความประหยัดและได้วิตามิน แร่ธาตุครบถ้วน

หมู่ที่ 4 ผลไม้ต่างๆ ให้ประโยชน์เช่นเดียวกับหมู่ที่ 3

หมู่ที่ 5 ไขมันและน้ำมันพืชและสัตว์ เป็นแหล่งพลังงานและช่วยให้วิตามินที่ละลายในน้ำมัน (วิตามิน เอ ดี อี และเค) ดูดซึมได้ดีขึ้น ควรเลือกไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว

นอกจากนี้ ควรให้เด็กดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบหมุนเวียนในร่างกายและการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารรสจัด เค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด อาหารสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม อาหารปรุงไม่สุก รวมทั้งต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด เพราะการติดเชื้อจากอาหารที่ไม่สะอาด เพราะนอกจากจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพแล้ว อาจไม่สบายมากจนต้องหยุดเรียน มีผลเสียต่อการเรียนด้วย

ผู้ปกครองควรติดตามน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุกครั้งเมื่อมารับวัคซีน เพื่อประเมินภาวะโภชนาการว่าเกินหรือขาด อ้วนหรือผอมเกินไปหรือไม่ ถ้าหากมีภาวะดังกล่าวควรปรึกษากุมารแพทย์



พญ.อุษณี ลีลาปรีชาเลิศ