Sort by
Sort by

โภชนาการช่วงแรกของชีวิต

โภชนาการช่วงแรกของชีวิต

 

โภชนาการในช่วงแรกของชีวิต (Early Life Nutrition) คือ โภชนาการที่ได้รับในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิต เริ่มตั้งแต่วันแรกที่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งลูกน้อยมีอายุครบ 2 ปี เพราะมีการวิจัยพบว่าปัจจัยต่างๆ ที่แวดล้อมคนเราในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การเลี้ยงดู ฯลฯ มีความสำคัญมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ต่อการกำหนดภาวะสุขภาพไปตลอดชีวิต ขณะที่ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อแม่มีส่วนกำหนดเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

"โภชนาการ" เป็นปัจจัยที่ มีความสำคัญในอันดับต้นๆ การได้รับโภชนาการที่ไม่เหมาะสมใน 1,000 วันแรก ไม่ว่าจะน้อยเกินไปจนทำให้ขาดสารอาหาร หรือมากเกินไปจนทำให้เกิดภาวะโภชนาการเกิน ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว มีการศึกษาพบว่าโภชนาการในช่วงแรกของชีวิตมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการ  สติปัญญาและความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคกระดูกพรุน ในวัยผู้ใหญ่ ตัวอย่างเช่น การขาดอาหารในครรภ์มารดา ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย แล้วมีน้ำหนักเกินหรืออ้วนขึ้นในวัยเด็กหรือผู้ใหญ่ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง เป็น 2 เท่า เด็กที่ขาดสารอาหารจะเจ็บป่วยบ่อยและติดเชื้อง่าย เด็กที่ขาดไอโอดีนเรื้อรัง ไอคิวจะต่ำลง 12-13.5 จุด เด็กที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก จะมีไอคิวต่ำลง 5-10 จุด และเด็กที่เตี้ย แคระแกร็นรุนแรงใน 2 ขวบปีแรก จะมีไอคิวต่ำกว่าเด็กที่มีความยาวปกติ 3-10 จุด

เราควรดูแลอย่างไรในช่วง 1,000 วันแรก

  • หญิงที่เตรียมตัวตั้งครรภ์ ควรมีการเตรียมความพร้อมด้านโภชนาการ โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือนแรก เป็นช่วงวิกฤตของการพัฒนาสมองและระบบประสาทของทารก สารอาหารสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือโฟเลตและไอโอดีน หากได้รับไม่เพียงพอจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความพิการแต่กำเนิดและระดับสติปัญญาต่ำ  อย่างไรก็ตามในช่วง 1 เดือนแรก หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ดังนั้นหญิงที่วางแผนว่าจะมีลูกจึงควรเตรียมความพร้อมโดยการกินอาหารที่มีโฟเลตและไอโอดีนอย่างเพียงพอ

    • โฟเลต มีมากในผักและผลไม้สด เช่น ผักตระกูลกะหล่ำ หน่อไม่ฝรั่ง ส้ม องุ่น ถั่วเหลืองและตับ หากไม่มั่นใจว่าจะได้รับโฟเลตเพียงพอ แนะนำให้ดื่มนมที่มีการเสริมโฟเลตวันละ 1-2 แก้ว
    • ไอโอดีน พบมากในปลาทะเล สาหร่ายทะเล และเกลือไอโอดีน
  • ทารกแรกเกิด ควรได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือนแรกของชีวิต เพราะนมแม่มีสารอาหารที่ดีที่สุด ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี และป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ได้เป็นอย่างดี และการที่แม่สัมผัสลูกน้อยอยู่ในอ้อมกอดขณะในนมลูกจะช่วยกระตุ้นการรับรู้ เพิ่มการเชื่อมโยงของเส้นใยสมอง และช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของสมองได้อย่างดี
  • ทารกอายุ 6 เดือน ถึงวัยที่ควรได้รับอาหารเสริมตามวัยควบคู่กับนมแม่ เนื่องจากเด็กในวัยนี้มีความต้องการสารอาหารที่เพิ่มมากขึ้น การได้รับสารอาหารต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงเวลา จะทำให้ทารกมีพัฒนาการไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีในอนาคต  ในทางตรงกันข้ามทารกที่ได้รับสารอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสมทั้งมากเกินไปหรือน้อยเกินไป และในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ทารกมีพัฒนาการไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพไม่ดี และเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ ในประเทศไทยพบว่าทารกอายุ 6-8 เดือน ได้รับพลังงาน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินซีไม่เพียงพอ ส่วนทารกอายุ 9-11 เดือน ได้รับพลังงานและธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อลูกน้อยถึงวัยอาหารเสริม คุณแม่ควรเลือกอาหารเสริมที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเสริมธาตุเหล็ก      
  • วัยเด็กเล็ก เด็กวัยนี้มีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่าวัยทารก แต่มีความต้องการด้านโภชนาการสูง ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ 3 มื้อ เสริมด้วยอาหารว่างที่มีประโยชน์วันละ 1-2 มื้อ และนมอีก 2-3 แก้ว  ติดตามกราฟการเจริญเติบโตของลูกอย่างสม่ำเสมอ ระวังไม่ให้อ้วนเกินไป ผอมเกินไป หรือตัวเตี้ย แคระแกร็น เพราะช่วยบอกให้รู้ว่าลูกกำลังมีปัญหาทุพโภชนาการ ซึ่งควรได้รับการแก้ไขโดยด่วน

และด้วยความสำคัญของโภชนาการใน 1,000 วันแรกนี้เอง สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ได้กำหนดหัวข้อ”โภชนาการในช่วงแรกของชีวิต สำคัญอย่างไรในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค“ เป็นหัวข้อหนึ่งในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 6-8 ตุลาคม 2557 นี้