Sort by
Sort by

เลือดจะไปลมจะมา

เลือดจะไปลมจะมา

“เลือดจะไปลมจะมา” คือ คำเปรียบเปรยถึงเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยหนึ่งที่มีอาการ “เลือดจะไป” (เลือดประจำเดือนหรือระดูกำลังจะหมดไป) และ“ลมจะมา” (อารมณ์แปรปรวน) หรือเข้าสู่วัยทองนั่นเอง

ผู้หญิงที่เข้าใกล้วัยทอง หรือใกล้หมดระดูหรือหมดประจำเดือน ก็จะเริ่มมีประจำเดือนไม่ปกติ เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายเริ่มแกว่งขึ้นๆ ลงๆ ส่งผลให้มีอารมณ์ที่ไม่ค่อยปกติ หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย โมโหง่าย อาจสังเกตว่ามีระดูเริ่มห่างออก หรือไม่มีระดูมาเลยเป็นเวลา 1 ปี ก็เป็นการบ่งบอกว่าเข้าวัยทองแล้ว โดยทั่วไปสตรีไทยเข้าสู่วัยทอง เมื่ออายุประมาณ 48-49 ปี

การที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับสตรีวัยทอง

  1. มีอาการร้อนวูบวาบ คือ มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ มักเป็นบริเวณส่วนบนของร่างกาย บางครั้งหน้าแดงและเหงื่อออก ตามด้วยอาการหนาวสั่น
  2. มีอาการซึมเศร้า โกรธง่าย คุมตัวเองไม่ได้ บางครั้งผุดลุกผุดนั่ง นอนไม่หลับหรือหลับๆ ตื่นๆ หงุดหงิดง่าย
  3. ความจำเสื่อมลง หลงลืมง่าย โดยเฉพาะความจำระยะสั้น มักเกิดอาการหลงๆ ลืมๆ ไปชั่วขณะ
  4. มีอาการช่องคลอดแห้ง หรืออาจติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่าย เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่าย
  5. มือเท้าชา ผิวแห้ง รู้สึกเหมือนมีแมลงไต่ตามตัว
  6. เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน 

ในร่างกายคนเราจะมีกระบวนการสลายกระดูกเก่า โดยใช้เวลาประมาณ 3-6 สัปดาห์ จากนั้นจะมีเซลล์อีกตัวที่มาช่วยสร้างกระดูกใหม่ ซึ่งการสร้างนี้ใช้เวลา 3-6 เดือน ในช่วงอายุน้อยๆ การสร้างกระดูกจะมากกว่าการสลาย ทำให้มวลกระดูกของเราค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอายุ 30 ปี จะมีมวลกระดูกสูงสุด จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งในตอนสาวๆ ร่างกายจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นตัวยับยั้งไม่ให้เซลล์สลายกระดูกทำงานถี่เกินไป แต่เมื่อเข้าสู่วัยทองร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เซลล์สลายกระดูกก็จะทำงานเร็วขึ้น การสร้างกระดูกไม่ทัน จึงทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทุกคนที่เข้าสู่วัยทองจะต้องเป็นโรคกระดูกพรุน ขึ้นกับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ถ้าในตอนสาวๆ มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี สามารถสะสมมวลกระดูกได้สูง เมื่อเข้าสู่วัยทองจะสูญเสียมวลกระดูกช้าๆ โอกาสที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนก็จะมีน้อย แต่ถ้าสาวๆ ไม่ดูแลตัวเอง ได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย ไม่โดนแดดบ้าง ก็จะมีมวลกระดูกสะสมน้อย พอเข้าสู่วัยทองมีการสูญเสียมวลกระดูกเร็ว ก็จะมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้สูง

เพื่อลดการเกิดโรคกระดูกพรุน สตรีวัยทองจึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้สมดุลของแคลเซียมติดลบ เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม ปลาตัวเล็กที่กินได้ทั้งก้าง กุ้งแห้ง ปลาป่น และผักใบเขียวเข้ม ร่วมกับการกินผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ เพราะในถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวน (isoflavone) ซึ่งคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ช่วยชดเชยการขาดเอสโตรเจน และยังช่วยปรับระดับเอสโตรเจนที่ขึ้นๆ ลงๆ ให้สมดุล นอกจากนี้ ควรออกไปรับแสงแดดอ่อนๆ บ้างเพื่อให้ร่างกายสร้างวิตามินดีเพื่อช่วยในการดูดซึมแคลเซียมด้วย