Sort by
Sort by

เมื่อลูกน้อยเริ่มเลือกทาน

เมื่อลูกน้อยเริ่มเลือกทาน
จากลูกน้อยที่เคยทานง่ายและทานจนอิ่ม กลายเป็นเด็กน้อยวัยเตาะแตะที่สนใจกับการค้นพบสิ่งใหม่ๆ มากกว่าการทานอาหาร จริงๆ แล้วนี่คือกลไกธรรมชาติที่เด็กในวัยเตาะแตะจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่น้อยกว่าทารก แต่มีความสนใจเพิ่มขึ้นในการทดลองสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นหากต้องการให้ลูกทานอาหารมากขึ้น ลองทำอาหารที่มีรูปแบบไม่จำเจ มีความหลากหลายในส่วนประกอบ และให้ทานในปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยขึ้น
สำหรับเด็กในวัย 1-3 ขวบแล้ว การทานอาหารเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ผ่านการเห็น สัมผัส และดมกลิ่น ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจหากลูกน้อยจะใช้มือหยิบอาหาร จ้องมอง ละเลงบนโต๊ะ และดม ก่อนที่จะหยิบเข้าปากด้วยตัวเอง

ข้อควรระลึกเหล่านี้อาจช่วยให้คุณเข้าใจลูกน้อยมากขึ้นเมื่อต้องเริ่มเผชิญกับอาการเลือกรับประทานอาหารของลูกน้อย

1) เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้การปฎิเสธ เขาเริ่มพูดว่า “ไม่” เพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่เพราะเขาไม่หิว ดังนั้นควรให้เขามีส่วนร่วมในการเลือกอาหารที่จะทาน

2) ลูกน้อยจะรู้สึกสนุกขึ้นถ้าเขาได้ทานอาหารในจานพิเศษ ดื่มน้ำผลไม้สีสวย และการได้ทานโดยใช้มือบ้างช้อนบ้าง เป็นความสุขของลูกน้อยเพราะเขาได้เรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง

3) อาการติดอาหาร บางครั้งลูกน้อยก็ยืนยันที่จะทานอาหารบางอย่างทุกมื้อ หรือบ่อยๆ วิธีจัดการเบื้องต้นคือใช้วิธีสอดแทรกอาหารนั้นในทุกๆ มื้อในปริมาณมากน้อยที่ต่างกัน

4) แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อยๆอย่างเป็นเวลา หลายๆ มื้อ เพื่อให้เขายังได้สนุกกับกิจกรรมที่ชอบ และไม่ลืมที่จะรับประทานด้วย

มีการศึกษาพบว่า หากพ่อแม่ไม่เข้าใจพฤติกรรมตามวัยของลูกและบังคับให้ทานแต่สิ่งที่เตรียมไว้ ลูกมักเติบโตมาเป็นคนเลือกทานและทานยาก ดังนั้นอย่าวิตกกังวลจนเกินไป แต่ให้พยามยามทำความเข้าใจความต้องการตามวัยของเขา
ทำไมเด็กวัยเตาะแตะไม่ชอบทานเนื้อสัตว์และผัก ?

สำหรับเนื้อสัตว์
เด็กวัยเตาะแตะอาจปฎิเสธที่จะทานเนื้อสัตว์เพราะเคี้ยวยาก ลองใช้วิธีซ่อนหรือดัดแปลงรูปแบบเนื้อสัตว์ในอาหารที่ลูกคุ้นเคย เช่น เนื้อบด เนื้อปลาหรือไข่สับละเอียด หรือใช้โปรตีนชนิดอื่นเพื่อเพิ่มความหลากหลาย เช่น ชีส เนยถั่ว เต้าหู้ และถั่วเมล็ดต่างๆ

สำหรับผัก
เด็กๆ มักจะพบว่าผักใบเขียวมีรสขม เพราะประสาทสัมผัสไวกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นลองหาตัวเลือกผักอื่นๆ อย่าง แครอท ข้าวโพด ฟักทอง หรือลองเริ่มจากการให้ทานผลไม้ก่อน เพราะมีคุณค่าทางอาหารที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเกลือแร่และวิตามินต่างๆ เช่น แอปเปิ้ลชิ้นบางๆ แตงโมหั่นพอคำ เบอร์รี่ต่างๆ ใส่ในอาหารบางชนิด

สำหรับมื้ออาหาร
เด็กวัยเตาะแตะต้องการอาหารมากกว่า 3 มื้อ เพราะเด็กวัยนี้มีความสนใจสั้น การให้ทานน้อยๆ แต่บ่อยขึ้นอย่างเป็นเวลา จะเข้ากับพัฒนาการตามวัย เรามีเคล็ดลับง่ายๆ ที่สร้างนิสัยการรับประทานให้เด็กวัยเตาะแตะ
  • อย่าพยายามยัดเยียดให้ลูกทานทุกครั้งที่เขาเข้ามาหา
  • ให้นึกเป็นภาพรวมว่า อาหารและอาหารว่างแต่ละมื้อเป็นการสะสมคุณค่าทางอาหาร
  • เตรียมอาหารระหว่างมื้อทั้งช่วงเช้าและบ่าย ในตอนบ่ายอาจชักชวนให้ลูกหลับพักผ่อนสัก 1 ชั่วโมงด้วย
  • สอนให้ลูกได้เรียนรู้อาการหิวและอิ่ม เพื่อให้เขาได้ฝึกฝนวินัยในการกิน การให้ลูกทานตลอดเวลาทั้งที่ไม่รู้สึกหิวจะมีผลต่อน้ำหนักตัวที่อาจเกินมาตรฐาน
ดังนั้นการเลือกทานของลูกน้อยจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพียงแค่คุณแม่เข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามวัย และค่อยๆแนะนำอาหารใหม่ๆให้ลูกน้อยทดลองเมื่อลูกพร้อม เพียงเท่านี้ คุณแม่ก็จะมีความสุขและสามารถรับมือกับการเลือกทานของหนูๆได้อย่างไร้กังวลค่ะ

เรียบเรียงข้อมูลจาก HealthNewsDigest.co