Sort by
Sort by

เคล็ดลับเพื่อให้ลูกนอนหลับได้สนิทสบาย

เคล็ดลับเพื่อให้ลูกนอนหลับได้สนิทสบาย
การนอนหลับได้สนิทอย่างมีคุณภาพ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากกับเด็กๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่ เพราะการนอนหลับจะส่งผลถึงการเรียนรู้ พฤติกรรม และอารมณ์ของลูกได้ มาเรียนรู้พฤติกรรม เรื่องราวเกี่ยวกับการนอนของเด็ก และเคล็ดลับที่จะช่วยให้ลูกนอนหลับอย่างมีคุณภาพกันค่ะ

ถาม : เด็กๆ ควรนอนวันละกี่ชั่วโมง
ตอบ : พฤติกรรมการนอนเป็นเรื่องเฉพาะตัว เด็กแต่ละคนต้องการเวลานอนไม่เท่ากัน แต่หลักๆ แล้ว ระยะเวลาการนอนของเด็กจะลดลงตามวัย จากตอนเล็กๆ ที่ต้องนอน 14 ชั่วโมง จะลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือแค่ 9 ชั่วโมงเมื่อลูกอายุได้ 12 ขวบ จากนั้นจะคงที่อยู่จนอายุ 18 เริ่มเข้าวัยผู้ใหญ่นั่นแหละที่สามารถปรับลดเวลาการนอนได้ตามชอบใจ แต่ระยะเวลาดังกล่าวก็ปรับเพิ่มลดได้บวกลบ 3 ชั่วโมง แล้วแต่ว่าเด็กคนไหนจะนิสัยแบบไหน และสภาพแวดล้อมในบ้านเป็นอย่างไร

ถาม : จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกนอนหลับเพียงพอ
ตอบ : หลักๆ ก็คือลูกตื่นนอนอย่างสดชื่น ไม่งัวเงีย ไม่งอแง นั่นคือสัญญาณว่าลูกหลับสนิทดี แต่ถ้าวันไหนตื่นมาแล้วลูกอารมณ์เสีย เกเร งอแงหงุดหงิดใส่คุณพ่อคุณแม่ บางรายอาจจะมีพฤติกรรมไฮเปอร์ วิ่งวุ่นไม่มีสมาธิ เมื่อใดที่รู้สึกว่าอารมณ์ของลูกไม่คงที่เป็นปกติ เมื่อนั้นแหละ ที่พ่อแม่จะรับรู้ได้ว่าลูกนอนไม่พอ และควรปรับพฤติกรรมการนอนในวันต่อไป

ถาม : ถ้าเด็กนอนไม่พอ จะส่งผลอย่างไร
ตอบ : การนอนไม่พอ นอกจากจะส่งผลต่ออารมณ์ของเด็ก ทำให้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมแล้ว ยังจะส่งผลหลายๆ อย่าง เช่น ภูมิต้านทานลดลง สุขภาพไม่แข็งแรง เติบโตช้า เรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ในเด็กวัยรุ่นที่หงุดหงิด เอาแต่ใจ เมื่อปรับพฤติกรรมการนอน โดยให้นอนเพิ่มมากขึ้น จะสังเกตได้ว่าเด็กๆ อารมณ์เย็นลง และไม่ขี้หงุดหงิดเหมือนเดิม นอกจากนี้ การนอนไม่พออาจเสี่ยงต่อโรคอ้วน ยิ่งนอนน้อย ก็จะอยากอาหารมากขึ้น และทำให้ความดันเลือดสูง เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด อาจส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจได้ หรืออย่างเด็กวัยรุ่นที่อาจมีปัญหาการเข้านอน เนื่องจากเล่นมือถือหรือเกมมากเกินไปจนร่างกายไม่ผ่อนคลาย ทำให้นอนไม่หลับ ก็อาจส่งผลต่อพฤติกรรมทำให้ก้าวร้าวหรือหงุดหงิดง่ายได้ นั่นคือเหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างพฤติกรรมการนอนที่ดีให้กับลูกตั้งแต่เริ่มต้น

ถาม : สอนลูกให้นอนหลับอย่างไรดี
ตอบ : ควรสร้างระยะเวลาที่เป็นระเบียบและเป็นวินัยทุกวัน เช่น กินอาหารเย็น ดูโทรทัศน์ อาบน้ำ อ่านนิทาน ดื่มนมร้อนๆ อุ่นๆ สักแก้ว แปรงฟัน แล้วก็เข้านอน ถ้าหากคุณทำตามวงจรนี้เป็นประจำทุกวัน ในเวลาเดิมๆ เมลาโทนิน สารที่ทำให้นอนหลับได้สนิท ก็จะหลั่งออกมาในเวลาเดิมทุกวัน ทำให้ลูกง่วงนอนตรงเวลาและสามารถนอนหลับได้สนิท ยิ่งร่างกายได้รับรู้ว่าต่อไปจะทำอะไร ก็จะยิ่งนอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าพฤติกรรมการนอนไม่เหมือนกันในแต่ละวัน เมลาโทนินก็จะหลั่งออกมาไม่ตรงเวลา และทำให้ร่างกายสับสน กลายเป็นอาการนอนไม่หลับได้

ถาม : สำหรับพ่อแม่ที่ลูกมีปัญหาการนอน ควรทำอย่างไร
ตอบ : ก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอนของลูก 1 ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่ควรปรับพฤติกรรมของลูก เช่น จากที่เคยเล่นคอมพิวเตอร์ คุยโทรศัพท์ หรือดูโทรทัศน์ ก็ควรจำกัดเวลาไม่ให้นานจนเกินไป และพยายามเปลี่ยนกิจกรรมไปเป็นอ่านหนังสือหรือฟังเพลงเบาๆ แทน หรือให้ดื่มนมอุ่นๆ ก่อนนอน จะช่วยให้นอนหลับสบาย รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสม เช่นอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่มีแสงไฟรบกวน เพื่อเตรียมการเข้านอนให้มีคุณภาพที่สุด ถ้าลูกหลับสบาย วันต่อมาก็จะสดชื่น สดใส และพร้อมรับความรู้ใหม่ๆ ที่โรงเรียนได้อย่างมีคุณภาพเช่นกัน