Sort by
Sort by

สูงวัย กินอย่างไรดี

สูงวัย กินอย่างไรดี

ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 มีผู้สูงอายุคิดเป็นประมาณร้อยละ 12.7 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่กำหนดไว้ว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ

ผู้สูงอายุจะมีความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เสื่อมลง ฟันมีการสึกกร่อน ทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก การรับรสของปุ่มรับรสอาหารที่ลิ้นก็ลดลง ทำให้ความอยากรับประทานอาหารลดลง นอกจากนี้ระบบทางเดินอาหารยังทำงานด้อยลง และเกิดอาการท้องอืด มีแก๊ส แน่น จุกเสียด ได้ง่าย ดังนั้น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารครบถ้วน ผู้ดูแลหรือลูกหลานควรจัดอาหารให้เหมาะสมโดยการดัดแปลง ดังนี้

  1. ดัดแปลงลักษณะอาหาร

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาของฟัน ทำให้บดเคี้ยวอาหารได้ไม่ดี จึงควรจัดอาหารที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เคี้ยวได้ง่าย โดยการหั่นเนื้อสัตว์ หรือผักเป็นชิ้นเล็กๆ  ต้มหรือเคี่ยวนานๆ เพื่อให้เปื่อยนุ่ม เน้นโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีคุณค่าสูง เช่น ปลา และไข่

  1. ดัดแปลงรสชาติอาหาร

ความชอบในรสชาติอาหารของผู้สูงอายุมักมีการเปลี่ยนแปลง บางคนชอบอาหารที่มีรสหวานมากขึ้น บางคนชอบรสขม จึงควรดัดแปลงตามความชอบของผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจัดอาหารที่มีรสจัด เผ็ดจัด หรือมีเครื่องเทศมาก เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้

  1. ดัดแปลงปริมาณอาหาร

ปริมาณอาหารไม่ควรมากเกินไป เพราะจะทำให้แน่นท้อง ควรรับประทานปริมาณน้อยลง และแบ่งเป็น 4-5 มื้อ แทนการรับประทานวันละ 3 มื้อ และควรจัดอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละวัน หากกินได้ไม่มากพอหรือไม่มั่นใจว่าจะได้รับสารอาหารครบถ้วน แนะนำให้เสริมอาหารสูตรครบถ้วน ที่มีสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย