Sort by
Sort by

สุขลักษณะที่ดี ปกป้องลูกน้อยจากหวัดสายพันธุ์ใหม่

สุขลักษณะที่ดี ปกป้องลูกน้อยจากหวัดสายพันธุ์ใหม่
หวัดสายพันธุ์ใหม่ (เอช1 เอ็น1) เป็นโรคติดเชื้อที่เข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาหารหวัดมีมากมายหลายร้อยชนิด สายพันธุ์ใหม่ที่มีอยู่ในขณะนี้ มีความรุนแรงที่เข้าไปก่อการอักเสบในเนื้อปอด ทำให้เกิดโรคปอดบวม สำหรับผู้ป่วยจำนวนไม่มากในต่างประเทศที่เสียชีวิต มักเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน เป็นต้น ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ โรคอ้วน ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และหญิงมีครรภ์

การปกป้องลูกน้อยจากหวัดสายพันธุ์ใหม่ ต้องมีสุขลักษณะที่ดีทำให้ร่างกายแข็งแรง กินอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เด็กไม่ควรสระผมหรืออาบน้ำตอนค่ำๆ ฉีดวัคซีนป้องกัน 2 ครั้งห่างกัน 21 วัน ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป

สำหรับวิธีการติดต่อและวิธีการป้องกันโรค จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ธรรมดา กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1 เอ็น1) ดังต่อไปนี้

คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป
1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
2. ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น
3. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
4. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็น
6. ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่
1. หากมีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น ไข้ไม่สูง ไม่ซึม และรับประทานอาหารได้ สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ควรใช้พาราเซตามอลเพื่อลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ
2. ควรหยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติ และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
3. สวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องอยู่กับผู้อื่น และใช้กระดาษทิชชู่ ผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม
4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ โดยเฉพาะหลังการไอหรือจาม
5. หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียน ซึม ควรรีบไปพบแพทย์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงวันดี วราวิทย์