Sort by
Sort by

ศึกใหญ่บนโต๊ะกินข้าวของเจ้าตัวเล็ก

ศึกใหญ่บนโต๊ะกินข้าวของเจ้าตัวเล็ก
สำหรับพ่อแม่ทุกคนคงปวดหัวกันเป็นประจำกับศึกใหญ่นานารูปแบบของเจ้าตัวเล็กบนโต๊ะอาหารที่ทำให้ ต้องเตรียมรับมือกันอยู่เสมอ เปรียบเหมือนเวทีมวยมีหลายยกให้จัดการ

ยกที่ 1 มื้อเช้า... ข้าวต้มคำแรกเข้าปากไปตั้งแต่ 15 นาทีก่อน แต่ยังไม่มีวี่แววที่เจ้าตัวเล็กจะขยับปากเคี้ยวต่อ

ยกที่ 2 มื้อเที่ยง... ข้าวผัดแฮมคำที่ 3 นอนนิ่งอยู่ในช้อนมาเกือบครึ่งชั่วโมงโดยไม่มีทีท่าที่ลูกจะยอมตักเข้าปาก

ยกที่ 3 มื้อเย็น... ผ่านไป 1 ชั่วโมง ข้าวไก่ทอดในจานลูกเพิ่งพร่องไปแค่ 2 คำเล็กๆ จนคุณแม่ที่ควบทั้งตำแหน่งแม่ครัวประจำบ้านและคนป้อนประจำครอบครัวเริ่มจะอ่อนใจ

Problem : ลูกอมข้าว

เรื่องลูกอมข้าวนี้เปรียบได้กับศึกบนโต๊ะอาหารที่คุณแม่หลายบ้านต้องคอยหากลยุทธ์มารับมือวันละ 3 เวลา ยิ่งลูกบ้านไหนอมข้าวเป็นชั่วโมงๆ พักรบได้ไม่นานก็ถึงเวลารบมื้อต่อไปอีกแล้ว โดยทั่วไปปัญหานี้จะเริ่มเมื่อเด็กอายุราว 1 ขวบขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มลดปริมาณนมและเพิ่มปริมาณอาหารอื่นๆ ทำให้นมกลายเป็นอาหารเสริม ในขณะที่ข้าว 3 มื้อขยับมาเป็นอาหารหลักแทน

ปัจจัยที่เด็กๆ ใช้เวลากับข้าวแต่ละคำนานเกินไปนั้นมีหลายสาเหตุแตกต่างกันไป อาทิ เด็กหลายคนไม่หิวจึงไม่มีความรู้สึกอยากจะกินข้าวคำต่อไป เด็กบางคนใช้นิสัยอมข้าวเป็นอาวุธในการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ ขณะที่บางบ้านอาจมีสาเหตุมาจากบรรยากาศในมื้ออาหารที่ไม่ชวนกินและไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เด็กเห็น

เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันที่ต้องหมดไปกับการทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ลูกยอมเคี้ยวข้าวแล้วกลืนไม่ใช่เหตุผลเดียวเท่านั้นที่ทำให้คุณแม่ กังวลใจ เพราะการอมข้าวไว้นานๆ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคฟันผุในเด็กเล็ก ทั้งยังสร้างนิสัยในการกินที่ผิดให้กับเด็กด้วย

Solution : เตรียมรับมือ

วิธีที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้ คุณแม่ต้องใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งควบคู่กันไป
ไม้แข็งที่จะใช้สู้ศึกนี้ก็คือ ต้องกำหนดเวลาในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อให้ชัดเจน คุยกับลูกให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า พอครบเวลาที่กำหนดไว้แล้ว พ่อกับแม่จะเก็บจานอาหารทันที สมมุติว่าตกลงกันว่าจะใช้เวลาครึ่งชั่วโมง พอครบครึ่งชั่วโมงปุ๊บ ไม่ว่าลูกจะทานได้กี่คำ ให้ใจแข็งเก็บจานในทันที เมื่อทำบ่อยครั้งเข้า ลูกจะเริ่มเรียนรู้ว่า ถ้าเขาไม่รับประทานภายในเวลาที่ตกลงกัน ก็จะไม่ได้รับประทานอีกและจะค่อยๆ ปรับตัวไปทีละนิด

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้จะไม่ได้ผลถ้าคุณแม่ไม่ทำอย่างสม่ำเสมอ แถมยังเตรียมของว่างระหว่างมื้อให้กับลูกด้วยความกังวลว่าลูกจะได้รับอาหารน้อยไป ถ้าทำแบบนั้น เด็กจะเรียนรู้เองว่าถึงไม่รับประทานอาหารมื้อหลักก็จะมีอาหารว่างรออยู่ตลอดวัน เพราะฉะนั้นถึงจะอมข้าวก็ไม่เป็นไร

ส่วนไม้อ่อนที่ควรใช้คู่กับการปรับพฤติกรรมระหว่างมื้อก็คือการให้กำลังใจ การสร้างบรรยากาศที่ดีในการรับประทานอาหาร และอาจจะใช้นิทานมาเป็นตัวช่วย

นิทานน่ารักๆ หลายเรื่องแต่งขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องเด็กอมข้าวนี่ล่ะค่ะ ไม่ถึงขนาดต้องอ่านให้ฟังทุกวัน แต่อ่านให้ฟังเรื่อยๆ จนลูกคุ้นกับนิทานพอที่คุณแม่จะสามารถหยิบมาพูดเป็นตัวอย่างให้ลูกฟังได้ เมื่อใดก็ตามที่ลูกเริ่มอมข้าว

การที่จะชนะศึกอมข้าวได้คุณแม่ต้องใจแข็ง แต่ต้องเป็นการใจแข็งบนพื้นฐานความเข้าใจต่อพฤติกรรมนี้ เพื่อให้รับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไม่เครียด และไม่ส่งความเครียดนั้นไปถึงลูกด้วย ขอให้ทุกบ้านประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา และลูกได้รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม