Sort by
Sort by

วิธีเลือกวิตามินสำหรับผู้ชายสูงอายุ

วิตามินอะไรเหมาะกับชายสูงอายุ
ผู้ชายไม่ว่าจะวัยใด ก็ควรสนใจในการดูแลร่างกายตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องวิตามินเพื่อเลือกให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ วิตามินแต่ละชนิดให้ประโยชน์ต่อร่างกายที่แตกต่างกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเพศใด วัยใด ก็ควรรับวิตามินให้ครบถ้วนทุกชนิด แต่ด้วยความแตกต่างทางสุขภาพของผู้หญิง ผู้ชาย วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ ทำให้ร่างกายของแต่ละกลุ่มคนมีความต้องการวิตามินบางตัวเป็นพิเศษ เพื่อรักษาความสมดุลของร่างกายในช่วงวัยนั้นๆ เช่นเดียวกันสำหรับผู้ชายสูงอายุวิตามินบางตัวก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะขาดเสียเลย หากยังคงต้องการสุขภาพที่ดีให้ไม่แพ้วัยหนุ่ม

วิตามินอี

ผู้สูงอายุหลายท่านมักมีปัญหาไขมันหรือโคเลสเตอรอลเกาะตามหลอดเลือด ดังนั้นวิตามินอีจึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญตัวหนึ่งในการช่วยลดโคเลสเตอรอลที่เกาะอยู่บริเวณหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจและสมอง วิตามินอีมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยให้เซลล์ต่างๆ รอดพ้นอันตรายจากอนุมูลอิสระอันเกิดจากมลพิษในสภาวะแวดล้อมปัจจุบัน จึงช่วยชะลอความชรา ผิวพรรณชุ่มชื้น และลดความเสี่ยงโรคหัวใจหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคพาร์คินสัน โรคอัลไซเมอร์ในวัยชราได้ อีกทั้งยังช่วยขยายหลอดเลือดฝอยเล็กๆ ต้านการแข็งตัวของหลอดเลือด จึงช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น นอกจากนี้วิตามินอีช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของระบบสืบพันธุ์ โดยเกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนเพศ และช่วยลดระดับของอนุมูลอิสระในน้ำอสุจิ จึงทำให้ผนังเซลล์อสุจิแข็งแรงขึ้น

ผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินอีประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ไม่ควรเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะอาจเกิดภาวะเป็นพิษได้ เช่น ทำให้การแข็งตัวของเลือดช้าลง แหล่งอาหารของวิตามินอีที่ดีที่สุด คือ น้ำมันพืชที่มีอยู่ทั่วไป เช่น น้ำมันจมูกข้าวสาลี (มีวิตามินอี 26 มก./ 1 ช้อนโต๊ะ) น้ำมันดอกทานตะวัน (มีวิตามินอี 7 มก./ 1 ช้อนโต๊ะ) น้ำมันถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังหาได้จากเมล็ดดอกทานตะวัน (วิตามินอี 14 มก./ 30 กรัม) เมล็ดอัลมอน (วิตามินอี 7 มก./ 30 กรัม) ไข่ (วิตามินอี 0.5 มก./ 1 ฟองใหญ่) เป็นต้น

แคลเซียม

คนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ โดยได้รับเพียงวันละ 300-350 มิลลิกรัม ซึ่งความจริงแล้วในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ก็พบว่าได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอเช่นกัน ทำให้เห็นผลเสียในวัยชรา เช่น เจ็บบริเวณกระดูก โรคกระดูกเปราะ โรคกระดูกพรุน กระดูกสะโพกหักง่าย เพราะร่างกายเราจะดึงเอาแคลเซียมที่สะสมไว้ในกระดูกออกมาเพื่อรักษาสมดุลของแคลเซียมในเลือด ทำให้กระดูกเราบางลงเรื่อยๆ

สำหรับผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปีควรมีการเสริมแคลเซียมให้ร่างกาย 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจะเพิ่มจากวัยกลางคนประมาณ 25% เพราะผู้สูงอายุจะมีอัตราการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกเร็วขึ้น ซ้ำยังประสิทธิภาพของร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมก็น้อยลงอีกด้วย แต่ปริมาณการได้รับแคลเซียมก็ไม่ควรมากเกิน 2,500 มิลลิกรัมต่อวันเพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตได้ สำหรับแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมที่ดีทั้งปริมาณและประสิทธิภาพการดูดซึมคือ นม แต่สำหรับผู้สูงอายุควรเลือกเป็นนมจืดไขมันต่ำ เพราะจะช่วยจำกัดปริมาณน้ำตาลและไขมันได้ นอกจากนี้ ปลาซิว กะปิ กุ้งแห้ง และปลาซาร์ดีนกระป๋องที่สามารถทานได้ทั้งกระดูกหรือก้าง ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า กะเพรา ผักโขม ก็ยังเป็นแหล่งของแคลเซียมที่หาทานได้ไม่ยาก

ร่างกายคนเราต้องการอาหารที่มีประโยชน์ ต้องการวิตามินแร่ธาตุครบถ้วนตั้งแต่วัยเด็กจนชรา เราควรใส่ใจและรับประทานอาหารที่มีสารอาหารที่จำเป็นและมีส่วนช่วยในระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายอยู่เสมอ เริ่มต้นด้วยการใส่ใจเลือกอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มมื้อว่าง อาจเลือกเป็นเครื่องดื่มธัญญาหารอุ่นๆ เพราะนอกจากจะได้คุณประโยชน์จากธัญพืชตามธรรมชาติแล้ว ยังได้ประโยชน์จากนมอีกด้วย และคุณค่าที่มากขึ้น ควรเลือกชนิดที่ไขมันต่ำและไม่มีโคเลสเตอรอล มีวิตามินอีและซีสูง และมีแคลเซียม นอกจากนี้อย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างสมบูรณ์ค่ะ