Sort by
Sort by

ล้างผักให้ปลอดพิษ ชีวิตปลอดภัย

ล้างผักให้ปลอดพิษ ชีวิตปลอดภัย
นอกจากผักเป็นแหล่งของใยอาหาร และวิตามิน แร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังมีสารพฤกษเคมีธรรมชาติที่ทำให้พืชผักมีสี กลิ่น รส ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว เช่น เบต้าแคโรทีนในผักสีเหลืองส้ม ไลโคปีนในผักสีแดง แอนโทไซยานินในผักสีม่วง หรืออัลลิซินในผักสีขาว สารเหล่านี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ยับยั้งการเสื่อมสภาพของเซลล์ ลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง และเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค

อย่างไรก็ตาม ผักและผลไม้ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้ ถ้ามีการปนเปื้อนเชื้อโรค พยาธิ ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีอันตราย ดังนั้นก่อนนำมาประกอบอาหารรับประทาน ก็ควรล้างให้สะอาดจะช่วยลดปริมาณการปนเปื้อนลงได้ สำหรับวิธีการล้างผักมีหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันไป ดังนี้

1. ให้น้ำไหลผ่าน โดยเด็ดผักเป็นใบๆ ใส่ตะแกรงโปร่งเปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผักและถูไปมาบนผิวใบนานประมาณ 2 นาที สามารถลดสารปนเปื้อนได้ 25-63 % แต่อาจเปลืองน้ำและเสียคุณค่าทางอาหารไปบ้าง

2. ใช้น้ำส้มสายชู 5% ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:10 หรือน้ำส้มสายชู 1/2 ถ้วยต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10-15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด สามารถลดปริมาณสารปนเปื้อนได้ 60-84% ข้อจำกัดคือ ผักอาจมีกลิ่นของน้ำส้มสายชูติดมา และผักบางอย่างเช่น ผักกาดขาว ผักกาดเขียว อาจมีการดูดรสเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชูทำให้รสชาติเปลี่ยนไป และภาชนะที่ใส่ผักล้างไม่ควรเป็นพลาสติก

3. ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด สามารถลดสารปนเปื้อนลงได้ 27-38% วิธีการนี้ลดได้ไม่มาก และอาจมีเกลือและรสเค็มติดผักหรือผลไม้

4. ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่นาน 15 นาที แล้วนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดปริมาณสารปนเปื้อนได้ถึง 90-95% ข้อจำกัดของการใช้เบกกิ้งโซดาคือมีส่วนผสมของโซเดียมอยู่และอาจดูดซึมเข้าสู่ผักหรือผลไม้ และหากล้างไม่สะอาดการได้รับเบกกิ้งโซดาในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ท้องเสียได้

เมื่อได้ผักที่สะอาดปลอดภัยเป็นส่วนประกอบในอาหารจานเด็ดของครอบครัวแล้ว อย่าลืมเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ปรุงอาหารที่ได้คุณภาพ เช่น ซอสปรุงอาหารที่หมักโดยวิธีทางธรรมชาติด้วยนะคะ อาหารของเราจะได้ปลอดพิษ ชีวิตปลอดภัยนั่นเอง