Sort by
Sort by

ลูกจ๋า...จ้ำม่ำเกินไปแล้วนะ

ลูกจ๋า...จ้ำม่ำเกินไปแล้วนะ

ทุกวันนี้เราจะเห็นคนอ้วนมากขึ้นไม่เว้นแม้แต่ในเด็ก สมัยก่อนเราอาจมองว่า เด็กอ้วนเป็นเด็กน่ารัก น่าเอ็นดู เลี้ยงง่าย กินง่าย แต่เด็กอ้วนในวันนี้ มีโรคภัยไข้เจ็บรออยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคข้อกระดูก ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไกลตัวเกินกว่าที่เด็กเล็กๆ หรือวัยรุ่นจะมาห่วง แต่ปัญหาอื่นๆ จากความอ้วนที่อาจมีผลโดยตรงต่อเด็ก คือ ปัญหานอนกรน หรือมีอาการหยุดหายใจไปชั่วขณะนอนหลับ ทำให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง มีปัญหาการทรงตัว หรือเคลื่อนไหวร่างกาย และอาจเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย  ทำให้เด็กผู้หญิงมีประจำเดือนเร็ว และจะมีระดับเอสโตรเจนสูงในระยะเวลาที่นานกว่า ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม และมะเร็งในรังไข่เมื่ออายุมากขึ้น

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเข้าข่ายอ้วนหรือยัง
คุณพ่อคุณแม่สามารถประเมินความอ้วน-ผอมให้ลูกได้โดยการเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตมาตรฐาน ซึ่งจะมีการประเมินน้ำหนักตามเกณฑ์อายุ ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ และน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง โดยกราฟน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงนี่ล่ะที่จะบอกให้รู้ว่าลูกมีน้ำหนักได้สัดส่วนเหมาะสมกับความสูงหรือไม่ หรือบอกได้เลยว่าสมส่วน อ้วน หรือผอม

ถ้าอ้วนแล้ว ควรทำอย่างไร
เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่กำลังมีการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสมอง ดังนั้นจะใช้วิธีควบคุมน้ำหนักให้คงที่หรือขึ้นช้าๆ(weight control) แทนการลดน้ำหนัก (weight reduction) เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตด้านความสูง เมื่อเด็กสูงขึ้นน้ำหนักที่คุมไว้จะได้สัดส่วนกับส่วนสูง การลดน้ำหนักในเด็กจะทำเมื่อเด็กนั้นอ้วนมากๆ หรือมีผลแทรกซ้อนของโรคอ้วนเท่านั้น สำหรับการควบคุมน้ำหนักสำหรับเด็กที่อ้วนมีวิธีดังนี้

  • ห้ามงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งเด็ดขาด โดยเฉพาะมื้อเช้า แต่ให้เลือกอาหารประเภทธัญพืชเต็มเมล็ด และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณผักผลไม้ไม่หวานจัดในอาหารของเด็ก ใยอาหารในอาหารเหล่านี้จะช่วยให้กินน้อยลง และอิ่มนาน
  • เปลี่ยนจากเมนูทอด ผัดน้ำมัน เป็นเมนูประเภทต้ม อบ นึ่ง ลวก ยำ ตุ๋นบ้าง
  • ให้ดื่มนมแต่พอดี วันละ 2- 3 แก้ว และควรเป็นนมพร่องไขมัน หลีกเลี่ยงนมเปรี้ยวและนมปรุงแต่งรสต่างๆ เพราะอาจมีปริมาณน้ำตาลสูง
  • ลดการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม และขนมหวาน โดยจำกัดปริมาณการกิน หรือเลือกประเภทที่ให้พลังงานน้อย เช่น เลือกไอศกรีมหวานเย็นที่ให้พลังงานน้อย
  • ไม่ควรตั้งอาหารไว้บนโต๊ะตลอดเวลา
  • ทุกคนในครอบครัว ควรเปลี่ยนมากินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเด็กจะได้ไม่รู้สึกแตกต่างจากผู้อื่น 
  • ตักอาหารใส่จานลูก ในสัดส่วนปริมาณของเด็ก ไม่ใช่ปริมาณที่ผู้ใหญ่รับประทานกัน
  • อย่าบังคับให้ลูกกินทุกอย่างที่อยู่ในจานจนหมด เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้ลูกเห็นว่าการกินอาหารให้หมดจานมีความสำคัญมากกว่าความรู้สึกอิ่ม
  • ไม่ควรควบคุมอาหารเข้มงวดมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เพิ่มความอยาก จนเด็กต้องแอบกิน
  • ฝึกให้ลูกกินอาหารให้ช้าลง เพราะการกินอาหารเร็ว ร่างกายจะได้รับอาหารมากกว่าความต้องการที่แท้จริง
  • ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในบ้านที่เป็นสาเหตุการกินมากของลูก เลิกให้รางวัลเป็นขนม  และอย่าซื้อขนมมาตุนเอาไว้ที่บ้านเยอะๆ เพราะถ้าเห็นก็จะเพิ่มความอยากทั้งที่ไม่รู้สึกหิว  ถ้าจำเป็นให้ซื้อขนาดเล็กสุดจะได้ไม่กินมากเกิน
  • เตรียมอาหารว่างที่ดีมีประโยชน์สำหรับลูกติดตัวไป เช่น ผลไม้รสไม่หวานจัด เวลาไปรับลูกที่โรงเรียน จะได้เลี่ยงการซื้อขนมหน้าโรงเรียน
  • กำหนดให้ทุกคนในครอบครัว รับประทานอาหารที่โต๊ะอาหารเท่านั้น รวมทั้งมื้อว่างด้วย และไม่ควรเปิดทีวีหรือเล่นคอมพิวเตอร์ขณะรับประทาน  จะช่วยให้เด็กตั้งใจในการกิน ซึ่งจะส่งผลให้เด็กรับทราบถึงสัญญาณความอิ่มได้ดีกว่า
  • ลดกิจกรรมที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น จำกัดการดูโทรทัศน์และเล่นเกมคอมพิวเตอร์ไม่ควรเกิน   2  ชั่วโมงต่อวัน
  • ชวนลูกทำกิจกรรมที่ช่วยเผาผลาญพลังงาน เช่น  วิ่งเล่น  กระโดดเชือก ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ กระโดดเชือก หรือให้เด็กได้ช่วยเหลืองานบ้าน  เช่น  ทำสวน  กวาดบ้าน

การควบคุมน้ำหนักของลูกไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน ต้องอาศัยเวลาและความพยายามฝึกจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน และสิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยให้กำลังใจและเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยนะคะ รับรองว่าการควบคุมน้ำหนักของลูกประสบความสำเร็จได้ไม่ยากค่ะ